posttoday

"คนแก่"ออมไม่พอใช้ "คนรุ่นใหม่"ก่อหนี้เพิ่ม

04 มกราคม 2562

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารออมสินพบว่า คนไทยส่วนใหญ่เสี่ยงมีเงินออมไม่พอใช้ในยามเกษียณ ขณะที่กลุ่มวัยเริ่มทำงานเป็นหนี้เร็วขึ้น

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารออมสินพบว่า คนไทยส่วนใหญ่เสี่ยงมีเงินออมไม่พอใช้ในยามเกษียณ ขณะที่กลุ่มวัยเริ่มทำงานเป็นหนี้เร็วขึ้น

***************************************

โดย....กนกวรรณ บุญประเสริฐ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน รายงานภาพรวมการออมของประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีปริมาณการออมเบื้องต้นของประเทศอยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท ขยายตัวอยู่ที่ 12.9% และคิดเป็น 34.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกันถือว่าอยู่ในระดับต้นๆ โดยมีการออมในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินฝาก สลาก พันธบัตร ประกันชีวิต เป็นต้น

สำหรับเงินฝากที่อยู่ในสถาบันการเงิน (ณ เดือน ส.ค. 2561) อยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท เป็นเงินฝากธนาคารพาณิชย์ 13.2 ล้านล้านบาท และธนาคารเฉพาะกิจ 4.7 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.8% และ 6.2% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารออมสิน คาดว่าในระยะต่อไปตัวเลขการออมของประเทศจะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากการเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ที่ต้องการเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ขณะที่ช่องว่างระหว่างการออมกับการลงทุน มีความกว้างมากขึ้นสะท้อนการลงทุน ภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมายังขยายตัวไม่มากนัก ทำให้เงินออมในประเทศสามารถรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ

ด้านพฤติกรรมทางการเงินด้านการออมจากการสำรวจพบว่าคนไทย 34.6% ไม่มีเงินออม และสำหรับผู้มีเงินออมส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการออมเงินเผื่อฉุกเฉิน/เจ็บป่วยมากที่สุด 38.3% รองลงมาคือการออมเพื่อใช้จ่ายในยามชราหรือเกษียณอายุ 34.7% และบริหารรายรับรายจ่ายตามฤดูกาล 10.3%

หากพิจารณาการวางแผนเก็บออมเพื่อเกษียณของคนไทยส่วนใหญ่ 85.8% อาจมีความเสี่ยงเงินไม่พอใช้ดำรงชีพยามชรา เนื่องจากยังไม่ได้วางแผนการเงินเพื่อเกษียณ 25.2% หรือวางแผนแล้วแต่ไม่ยังไม่เริ่มทำ 30.4% หรือทำตามแผนไม่ได้ 30.2%

นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมการออมเพื่อการเกษียณว่าจะมีเงินออมเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในยามเกษียณหรือไม่ พบว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ สะท้อนให้เห็นว่า โครงการหรือแผนงานที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการออมที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันปริมาณหนี้ครัวเรือนมีทิศทางปรับเพิ่มสูงขึ้นทั้งจำนวนเงินกู้และจำนวนผู้กู้ โดยเฉพาะกลุ่มวัยเริ่มทำงานเป็นหนี้เร็วขึ้นและคุณภาพหนี้มีแนวโน้มด้อยลง

ทั้งนี้ การออมและการลงทุนของครัวเรือนไทยในปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 19.2 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นการฝากเงิน 39% การออมผ่านกองทุนรวม 25% เงินสำรองประกันภัย 13% และกองทุนส่วนบุคคล 5% ขณะที่การออมเงินผ่านกองทุนการออมเพื่อการเกษียณของไทยอย่างกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) คิดเป็นสัดส่วนรวม 18%

หากพิจารณาเฉพาะการออมเพื่อรองรับการเกษียณ ประกอบด้วย กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) พบว่ามีมูลค่ารวม 3.5 ล้านล้านบาท มีสมาชิกรวม 20.2 ล้านคน เมื่อเทียบกับประชากรวัยแรงงานจำนวน 38.7 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่ายังมีประชาชนที่ยังไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อการเกษียณมากถึง 18.5 ล้านคน สวนทางกับแนวโน้มผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในปี 2570 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ทำให้อัตราการพึ่งพิง (ประชากรวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุ) จะลดเหลือ 3 : 1 จาก 4 : 1 ในปัจจุบัน

ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรส่งเสริมเรื่องของการออม เนื่องจากการขาดทักษะทางการเงินของประชาชนเป็นสาเหตุพื้นฐานที่สำคัญของปัญหาต่างๆ ซึ่งประชาชนควรเข้าใจในเรื่องการบริหารทางการเงินพื้นฐานที่จำเป็นของการดำรงชีวิต เช่น ควรรู้ว่าดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ คิดอย่างไร ทางเลือกความเสี่ยงและผลตอบแทนในการออม-การลงทุนมีอะไรบ้าง และที่สำคัญแต่ละคนต้องรู้ว่าเมื่อเกษียณอายุแล้วจะมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพในช่วงที่เหลือจำนวนเท่าไหร่ ปัจจุบันมีเงินออมเพียงพอหรือไม่และที่เหลือจะหาเงินมาจากไหน เป็นต้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินและมีความมั่นคงทางการเงินอย่างยั่งยืน