posttoday

คิดอย่างไร‘ฟินเทค’ เป็นมิตรหรือศัตรู

02 มกราคม 2562

เทคโนโลยีทางการเงิน (“Financial Technology”) ที่เรียกสั้นๆ ว่า “ฟินเทค” กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

เรื่อง กัลย์ทิชา นับทอง 

เทคโนโลยีทางการเงิน (“Financial Technology”) ที่เรียกสั้นๆ ว่า “ฟินเทค”กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้มีส่วนร่วมในธุรกิจตลาดเงินและตลาดทุน เพราะการเปลี่ยนเเปลง ทำให้ผู้ประกอบการมีการพูดถึงวิธีการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การให้บริการลูกค้า

ปีที่ผ่านมา เป็นปีทองสำหรับสตาร์ทอัพ “ฟินเทค” เพราะมูลค่าการระดมทุนทั่วโลกผ่าน Venture Capital (VC) สูงสุดถึง 5.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า

ศิริยศ จุฑานนท์ ฝ่ายวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจ Thai Capital Market Survey 2018 เกี่ยวกับมุมมอง “AI” โดยได้รับความร่วมมือจาก กลุ่มสถาบันการเงินและสตาร์ทอัพฟินเทค ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเน้นไปที่ผู้เข้าร่วมโครงการ Capital Market Innovation Awards ของตลาดหลักทรัพย์จำนวน 60 ราย จากกลุ่มสถาบันการเงิน ซึ่งรวมถึงหน่วยงานภาครัฐ/สมาคม และกลุ่มสตาร์ทอัพฟินเทค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับสูง รวมถึงเจ้าของบริษัทสตาร์ทอัพฟินเทค

จากผลสำรวจสรุปได้ว่า มุมมองของทั้งกลุ่มสถาบันการเงินและสตาร์ทอัพฟินเทคนั้นค่อนข้างสอดคล้องกัน โดยมองว่าเทคโนโลยี AI จะมีบทบาทเข้ามาขับเคลื่อนการให้บริการ โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มากที่สุด และประเมินว่าฟินเทคในด้านนี้ยังมีความสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วย โดยธุรกิจอื่นๆ ที่คาดว่าฟินเทคจะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากจุดแข็งระหว่างสถาบันการเงินและสตาร์ทอัพฟินเทค พบว่า ทั้งสองฝ่ายหากร่วมมือกันจะเติมเต็มส่วนที่เป็นจุดด้อยของกันและกันได้ โดยที่สถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานและช่องทางการจัดจำหน่ายจะทำหน้าที่จัดหาแหล่งเงินทุน และป้อนข้อมูลลูกค้าให้กับสตาร์ทอัพฟินเทคที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ๆ และโครงสร้างองค์กรที่เหมาะกับการคิดค้นนวัตกรรม

โดยสตาร์ทอัพฟินเทคและสถาบันการเงินถูกมองว่าเป็นมิตรมากกว่าศัตรู ทั้งสองกลุ่มสามารถหาวิธีทำงานร่วมกันได้ อีกทั้งสตาร์ทอัพฟินเทคมีลักษณะธุรกิจที่สนับสนุนการทำงานของสถาบันการเงิน

v 70% ของสตาร์ทอัพฟินเทคมีรูปแบบการทำธุรกิจแบบ Business-to-Business (B2B)

v 85% ของกลุ่มสถาบันการเงินนั้นมีการทำธุรกิจแบบ Business-to-Consumer (B2C) ทำให้ทั้งสองกลุ่มนี้มีการแยกกลุ่มลูกค้าออกจากกันอย่างชัดเจน

โดยกลุ่มสถาบันการเงินทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการกับผู้ลงทุนโดยตรงและกลุ่มสตาร์ทอัพฟินเทค ส่วนใหญ่นั้นเน้นไปที่การร่วมมือกันกับสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการเท่านั้น

อาจจะเพราะสตาร์ทอัพฟินเทคเป็นบริษัทที่มีขนาดเล็ก ทำให้ต้องเลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน อีกทั้งยังเป็นบริษัทที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาใหม่และมีโครงสร้างบริษัทที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมได้ดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งอาจมี Legacy System ที่ซับซ้อนยากต่อการพัฒนา

v 65% ของผู้ตอบแบบสอบถามประเมินว่า การมุ่งเน้นแก้ไข Pain Point เฉพาะจุดในห่วงโซ่ธุรกิจตลาดทุนคือจุดเด่นของสตาร์ทอัพฟินเทคมากที่สุด

v 22% ประเมินว่าความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็วคือ จุดแข็งที่รองลงมา มีเพียงส่วนน้อยที่คิดว่ากฎระเบียบการควบคุมของภาครัฐดูแลสตาร์ทอัพฟินเทคผ่อนปรนมากกว่าสถาบันการเงิน

สรุปได้ว่า มุมมองของทั้งกลุ่มสถาบันการเงินและสตาร์ทอัพฟินเทคค่อนข้างสอดคล้องกัน โดยมองว่าเทคโนโลยี AI จะมีบทบาทเข้ามาขับเคลื่อนการให้บริการ โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มากที่สุด ทั้งสองกลุ่มยังพยายามหาแนวทางในการทำงานร่วมกันมากกว่าที่จะมาแข่งขันกันโดยตรง เพราะเมื่อพิจารณาจากจุดแข็งระหว่างสถาบันการเงินและสตาร์ทอัพฟินเทคที่มีความแตกต่างกัน ทำให้หากทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันจะสามารถเติมเต็มส่วนที่เป็นจุดด้อยของกันและกันได้ โดยที่สถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานและช่องทางการจัดจำหน่ายจะทำหน้าที่จัดหาแหล่งเงินทุน และป้อนข้อมูลลูกค้าให้กับสตาร์ทอัพฟินเทคที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ๆ

สำรวจ“ฟินเทค”ระดับโลก

LINE คอร์ปอเรชั่น สรุป ผลสำรวจในแง่ความคิดเห็นและความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีทางการเงินผ่านกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนกว่า 5,000 คน ในตลาดหลัก 7 แห่ง โดยเน้นไปที่ตลาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ญี่ปุุ่น ไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย รวมไปถึงเกาหลี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา พบว่า ในภาพรวมยังมีโอกาสสูงที่ฟินเทคจะเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง หากสร้างความรู้ความเข้าใจและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค

v ยอมรับว่าเทคโนโลยีทางการเงินช่วยในการวางแผนและจัดการทางการเงินให้ง่ายขึ้น

v เทคโนโลยีด้านการเงิน ที่วางใจในผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตัวเองรู้จัก แต่ยังมีความรู้ความเข้าใจในบริการและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงินในระดับต่ำ

คิดอย่างไร‘ฟินเทค’ เป็นมิตรหรือศัตรู

ทั้งนี้ จากบรรดาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใช้งานผ่านทางมือถือ หรือแอพพลิเคชั่นมากที่สุด ได้แก่ บริการเงินฝาก (65%) บริการโอนเงิน (57%) บริการตรวจสอบยอดบัญชี (48%) และบริการประกันภัย (48%) โดยมีประกันชีวิต (65%) ประกันการเดินทาง (58%) และประกันที่อยู่อาศัย (50%) เป็นประเภทของบริการประกันภัยที่กลุ่มผู้เข้าร่วมการสำรวจต้องการเข้าถึงผ่านช่องทางดังกล่าวมากที่สุด

โดยแต่ละประเทศต่างมีความสนใจและความกังวลที่แตกต่างกัน โดยไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ให้ความสนใจกับการเงินดิจิทัลในอนาคตเป็นอย่างมาก เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของสังคมไร้เงินสดในอนาคตพบว่าคำตอบจากทั้ง 3 ประเทศอยู่ในเกณฑ์บวกถึงกว่า 37% โดยเฉลี่ย ซึ่ง 57% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจในไทยกล่าวว่า “รู้สึกตื่นเต้น” ที่จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่ 56% และไต้หวันที่ 52% ส่วนเกาหลีก็ตอบรับในเชิงบวกเช่นกันโดยอยู่ที่ 45%

ประเทศเหล่านี้ต่างตอบรับในเชิงบวกกับการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินผ่านบริการบนมือถือ ซึ่ง 65% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจทั้งหมดจะเปิดบัญชีเงินฝากผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือนำโดยประเทศไทยที่ 83% ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 77% และไต้หวัน 69%

ด้านการซื้อบริการฟินเทคต่างๆ ผ่านทางมือถือ ในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ยังถือว่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ที่ต้องการเปิดบัญชีเงินฝากผ่านมือถือน้อยที่สุดเพียง 49% ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 53% และสหราชอาณาจักรที่ 57% (จากผลสำรวจเฉลี่ยที่ 65%)

อย่างไรก็ดี ในแง่การลงทุนผ่านทางมือถือสหราชอาณาจักรรั้งท้ายที่ 28% ตามด้วยสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นอยู่ที่ 37% ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของผลสำรวจที่ 45%

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับไทย อินโดนีเซีย และไต้หวัน ญี่ปุ่นยังรั้งท้ายจากผลสำรวจในแง่ความเชื่อมั่น และความเข้าใจต่อฟินเทค โดยผู้ร่วมการสำรวจที่เชื่อมั่นในฟินเทคมีเพียง 38% หากเทียบกับค่าเฉลี่ยผลสำรวจ ซึ่งอยู่ที่ 63% และจากรายงานมีเพียง 22% ที่รู้จักฟินเทคเป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 44%

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจพบว่าฟินเทคได้ช่วยให้การวางแผนและจัดการทางการเงินง่ายดายยิ่งขึ้น โดยแต่ละภูมิภาคมีความพร้อมไม่เท่ากัน โดยผู้บริโภคในไทย อินโดนีเซีย และไต้หวัน มีความพร้อมสูงสุดสำหรับบริการฟินเทค ฟิวเจอร์ เพื่อใช้บริการพื้นฐานจากธนาคารรวมทั้งประกันภัยคือ บริการผ่านมือถือที่ผู้บริโภคต้องการในอันดับต้นๆ