posttoday

กำจัดจุดอ่อน "สหกรณ์" จุดเปราะบางเสถียรภาพการเงิน

01 มกราคม 2562

ในสายตาธนาคารแห่งประเทศไทยยังมองว่า "สหกรณ์ออมทรัพย์" ถือว่าเป็นจุดอ่อนหรือจุดเปราะบางของระบบเสถียรภาพระบบการเงิน 

ในสายตาธนาคารแห่งประเทศไทยยังมองว่า "สหกรณ์ออมทรัพย์" ถือว่าเป็นจุดอ่อนหรือจุดเปราะบางของระบบเสถียรภาพระบบการเงิน 

****************************

โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความกังวลปัญหาสหกรณ์ออมทรัพย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมีข่าวมาต่อเนื่องเกี่ยวกับปัญหาผู้บริหารสหกรณ์การยักยอกเงิน หรือผู้บริหารสหกรณ์ขาดความรู้ความสามารถ รวมไปถึงการลงทุนที่ไม่เหมาะสมและมีความเสี่ยงต่อสมาชิกสหกรณ์ที่ฝากเงินด้วยกันเอง รวมไปถึงธุรกรรมการเงินระหว่างสหกรณ์ด้วยกันเอง หากเกิดปัญหาล้มละลายและลุกลามมาถึงเสถียรภาพของระบบการเงิน

โดยปัจจุบัน “สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน” มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 2 ล้านล้านบาท มีการทำธุรกรรมการเงินรับเงินฝากและปล่อยสินเชื่อคล้ายๆ กับระบบสถาบันการเงิน

ในสายตา ธปท. ในฐานะผู้กำกับนโยบายการเงิน ยังมองว่า “สหกรณ์ออมทรัพย์” ถือว่าเป็นจุดอ่อนหรือจุดเปราะบางของระบบเสถียรภาพระบบการเงิน แม้แต่ล่าสุดในรายงานผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2561 ระบุชัดเจนถึงความเป็นห่วงและยังต้องจับตาความเปราะบางในบางจุดที่อาจมีนัยต่อเสถียรภาพการเงินข้างหน้า

พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) และมีการประเมินความเสี่ยง ต่ำกว่าที่ควร (Under pricing of Risks) โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ออมทรัพย์

ในรายงานระบุชัดเจนว่า พบพฤติกรรม Search for Yield ผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง สะท้อนจากเงินรับฝากและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่ยังขยายตัวสูง รวมทั้งพบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่บางแห่งกู้ยืมเงินระยะสั้นเพื่อมาลงทุนในหลักทรัพย์มากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความผันผวนของมูลค่าเงินลงทุน

อย่างไรก็ตาม การที่ที่ประชุมเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สหกรณ์ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยกระดับการกำกับดูแลระบบสหกรณ์ แต่ต้องเร่งพัฒนากระบวนการกำกับดูแลความเสี่ยงและธรรมาภิบาล เพื่อให้ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์มีความเข้มแข็งสามารถดำเนินงานได้สอดคล้องกับปรัชญาของสหกรณ์โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินโดยรวม

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายสหกรณ์ที่มีการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน โดยยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแล และยกระดับธรรมาภิบาลเพิ่มมากขึ้นได้ผ่าน สนช.แล้ว อยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

“ในกฎหมายใหม่ จะให้อำนาจนายทะเบียน คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สามารถออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ชัดเจนได้ จากเดิมจะมีอำนาจในลักษณะส่งเสริมเป็นหลัก” วิรไท กล่าว

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการ “จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา” ขึ้นมา โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ในการที่จะวางกรอบกฎเกณฑ์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับกรอบกฎเกณฑ์การกำกับดูแล ซึ่งกฎเกณฑ์ที่จะออกมา ต้องปรึกษา ธปท. ปรึกษาคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงการคลัง เพื่อให้แน่ใจว่าจะปิดช่องโหว่เรื่องสหกรณ์ได้

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. สหกรณ์ฉบับใหม่ ที่กำลังเตรียมประกาศใช้ ซึ่งจะมีการคุมเข้มสหกรณ์ออมทรัพย์-เครดิตยูเนี่ยน รวมไปถึงการวางหลักเกณฑ์กำกับ กรรมการ-ผู้จัดการสหกรณ์ปล่อยกู้ยากขึ้น พร้อมแต่งตั้งผู้สอบบัญชี

พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่ที่จะเพิ่มเติมและแตกต่างจาก พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 ที่ได้ถือใช้มาถึงปัจจุบันนั้น อาทิ การกำหนดประเภท ลักษณะของสหกรณ์ และวัตถุประสงค์ ขอบเขตการดำเนินกิจการสหกรณ์แต่ละประเภท การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับสมาชิกสมทบสหกรณ์ การแก้ไขเพี่มเติมเกี่ยวกับบทบัญญัติผู้ตรวจสอบกิจการ งบการเงินและการสอบบัญชี

ที่สำคัญมีการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับอำนาจกระทำการของสหกรณ์กรณีเรื่องการรับฝากเงิน จากนิติบุคคล การกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน และการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนสหกรณ์เกี่ยวกับการกำหนดระบบบัญชี การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รอประกาศใช้กฎหมายสหกรณ์ฉบับใหม่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ได้การเตรียมพิจารณารายละเอียดที่จะต้องออกเป็นกฎกระทรวงและระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ตามที่ พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับใหม่กำหนดไว้ ซึ่งจะประกอบด้วย กฎกระทรวง 13 เรื่อง และระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ 3 เรื่อง ทั้งหมดจะต้องออกบังคับใช้ภายใน 2 ปี ตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ซึ่งจะออกประกาศเป็นช่วงๆ จนครบตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะสาระสำคัญในมาตรา 89/2 เรื่องของการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ต้องมีกฎกระทรวงออกมาทั้งหมด 12 ฉบับ ซึ่งกรมจะเร่งรัดดำเนินการ เบื้องต้นได้มีการเสนอร่างกฎกระทรวงและระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ในที่ประชุมกรรมาธิการได้พิจารณาในเบื้องต้นแล้ว แต่อาจจะต้องมีการปรับปรุงในรายละเอียดบางส่วนเพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติสหกรณ์ฉบับใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้

นี่เป็นจุดเริ่มต้นการจัดระเบียบและการสะสางปัญหา “สหกรณ์ออมทรัพย์” ที่เรื้อรังมานาน ทั้งๆ ที่สหกรณ์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งด้านการเป็นแหล่งเงินลงทุนและเป็นแหล่งเก็บออมเงินของประชาชนรากหญ้าที่แท้จริง