posttoday

เปิดยุทธศาสตร์'ธปท.'สร้างเสถียรภาพ-รากฐานดิจิทัล

25 ธันวาคม 2561

แผนยุทธศาสตร์ระยะ 3 ปี 2560-2562 ของ ธปท. ได้ผ่านมาเกินครึ่งทางแล้ว ซึ่งมีทั้งดีกว่าเป้าหมายและไม่ได้ตามเป้าหมาย

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

แผนยุทธศาสตร์ระยะ 3 ปี 2560-2562 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่านมาเกินครึ่งทางแล้ว ซึ่งมีทั้งดีกว่าเป้าหมายและไม่ได้ตามเป้าหมาย

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินยุทธศาสตร์ คิดเป็น 65% สอดคล้องตามระยะเวลา โดยแผนงานที่ทำได้เร็ว คือ ระบบการชำระเงิน การพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และการเชื่อมโยงกับองค์กรภายนอกเพื่อสร้างเสถียรภาพ

ระบบชำระเงิน หลังจากมีพร้อมเพย์ สถาบันการเงินมีการปรับตัวรองรับการแข่งขัน นำไปสู่การยกเลิกลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินเมื่อเดือน มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา เร็วกว่าที่คาดว่าจะเห็นผลในช่วงปลายไตรมาส 3/2562

Data Analytics ได้สร้างเครื่องมือและต่อยอดการใช้ประโยชน์มาได้ไกล เห็นได้จากการออกมาตรการเร็วและแก้ปัญหาตรงจุด ตั้งแต่มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อไม่มีหลักประกัน และล่าสุดมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทันทีที่เห็นจุดเปราะบาง

เสถียรภาพระบบการเงิน ได้ตั้งกลุ่มงาน Financial Stability ขึ้นมาใหม่ เพื่อมองการเชื่อมโยงทั้งระบบ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิเคราะห์ความเชื่อมโยงต่างๆ หากเกิดปัญหาในจุดใดก็สามารถป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปจุดอื่น

"มีงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ความเชื่อมโยงภาคการเงินผ่านงบดุลภาคธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่ต้องทำต่อ คือ การวิเคราะห์ความเสี่ยงธุรกิจขนาดใหญ่ที่ใช้แหล่งเงินทุนหลากหลาย ขาดความโปร่งใสของงบการเงิน และไม่เชื่อมโยงในกลุ่มกันเอง ที่กำลังเข้าไปศึกษาอย่างใกล้ชิด" วิรไท กล่าว

ส่วนแผนงานที่ยังทำได้ไม่ดี ได้แก่ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่แพร่หลาย ส่วนหนึ่งอาจกลัวถูกตรวจสอบทางภาษี อีกทั้งการเข้าถึงบริการทางการเงินยังไม่ดีและต้นทุนแพง  ธปท.จะเร่งส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน อาทิ โอนเงินระหว่างประทศ การใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปล่อยสินเชื่อ (information-based lending)

การวางแผนสืบทอดตำแหน่ง ยังไม่ดี เพราะค่าเฉลี่ยอายุของบุคลากร ธปท.อยู่ที่ 47.5 ปี คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาโตไม่ทันคนเกษียณใน 5 ปีข้างหน้า การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ในบางมิติ หวังว่า ไทยเป็นประธานอาเซียนปี 2562 จะขับเคลื่อนได้ สำเร็จได้ อาทิ การมีสกุลเงินภูมิภาค การชำระเงินมาตรฐานกลาง

สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นข้อต่อสำคัญของระบบการเงิน ซึ่งล่าสุดกฎหมายสหกรณ์ใหม่ ผ่าน สนช. แล้วรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีหลายเรื่องต้องทำต่อเนื่องเพื่อยกระดับความเข้มข้นในการดูแลและทำให้เร็วขึ้น เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์หรือเครดิต ยูเนี่ยนเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ เบื้องต้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังเป็นผู้กำกับดูแล โดยมีคลังและ ธปท.เป็นผู้แนะนำ

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปีหน้าจะปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เป็นรูปแบบการกำหนดกรอบและหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม (Principle Base) จากเดิมเป็นการออกกฎระเบียบ (Rule Base) ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง พร้อมยกเลิกกฎที่ไม่จำเป็น (Regulatory Impact Assessment : RIA) โดยไตรมาสแรก จะนำร่องเปิดให้ธนาคารจ้างเอาต์ซอร์สดูแลระบบไอทีได้ และอนุญาตให้ใช้คลาวด์ คอมพิวติ้งในการเก็บและประมวลผลข้อมูล

นอกจากนี้ ยกระดับการตรวจสอบสถาบันการเงิน 3 ด้าน ได้แก่ 1.มีจอวัดผลของตลาดการเงิน (Market Dashboard) บอกข้อมูลเพื่อนำมาจับความเสี่ยงของตลาด การลงทุน อัตราแลกเปลี่ยน และในไตรมาส 1/2562 จะมีจอวัดผลของ สินเชื่อ (Credit Dashboard) และจอวัด ผลของสภาพคล่อง (Liquidity Dashboard) จับสัญญาณว่าเมื่อใดต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ รวมทั้งจะมีจอของระบบชำระเงิน (Payment Dashboard)

2.ใช้ Data Analytics มาช่วยอ่านรายงานการประชุมคณะกรรมการธนาคาร (Text Mining) ดูความเห็นของบอร์ด พิจารณาว่าที่ประชุมมีการเช็กและบาลานซ์ รวมทั้งวิเคราะห์ วัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงอยู่ในระดับใด ซึ่งปัจจุบัน ธปท.ให้สถาบันการเงินวิเคราะห์ความเสี่ยงตัวเอง แต่ต้องยอมรับว่าแต่ละธนาคารมีอคติเข้าข้างตัวเอง ซึ่ง Data Analytics จะช่วย ธปท.ประเมินได้

3.ความปลอดภัยของระบบไอทีและไซเบอร์ นอกจากป้องกันและตรวจจับแล้ว ในปี 2562 ธปท.ขอให้สถาบันการเงินมีแผนตอบสนองและกู้คืน (Respond and Recovery) ด้วย ที่ผ่านมาได้ซักซ้อมกับบอร์ดและผู้บริหารธนาคารในด้าน Respond แล้ว รวมทั้งสมาคมธนาคารไทยได้ตั้ง TB-CERT ขึ้นมาดูแลภัยไซเบอร์เป็นพิเศษ ขณะเดียวกันจะประสานกับต่างประเทศเพื่อติดตามสถานการณ์ภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอีกด้วย

"เราให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ภายใต้มาร์เก็ตคอนดักต์  ปี 2562 มีแผนจะทำหลายอย่าง อาทิ ธนาคารต้องชี้แจงให้ลูกค้ารับรู้ว่าได้กดยืนยันการเปิดเผยข้อมูลอะไรไปบ้างบนโมบายแบงก์กิ้ง การปรับปรุงเกณฑ์คลินิกแก้หนี้ เป็นต้น" รณดล กล่าว

เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ยุคใหม่เป็นโลกของ VUCA (Volatility Uncertainty Complexity Ambiguity) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระบบ จำเป็นต้องผสมผสานเครื่องมือนโยบายต่างๆ มาเสริมประโยชน์ซึ่งกันและกันให้เหมือนการผสมในชามสลัด (Salad Bowl) โดยความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจ ต้องวิเคราะห์ข้อต่อที่สำคัญต่างๆ พร้อมทั้งมีระบบ "จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันไม่ให้ลาม"

การจับควัน ธปท.ติดตามภาคครัวเรือน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สหกรณ์ออมทรัพย์ ตลาดทุน และสถาบันการเงิน ผ่านการวิเคราะห์ฐานข้อมูลแล้ว พบความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพในระยะต่อไป คือ ความเสี่ยงจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีผลต่อภาคเศรษฐกิจประเทศมากและมีบริษัทลูกต่างประเทศ หากฟ้าผ่าต้นไม้ใหญ่ ก็มีผลกระทบต่อต้นไม้อื่นด้วย ต้องติดตามให้มากขึ้น

ดับไฟให้ทัน คือ การออกมาตรการเข้ามาดูแลดังเช่น มาตรการกำกับสินเชื่อ อสังหาริมทรัพย์ ที่ใช้เวลาไม่มากแต่ทำขั้นตอนครบถ้วน ทั้งประเมินผลกระทบ การรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย การปรับปรุงมาตรการ และประกาศใช้ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะนำไปใช้กับมาตรการอื่นด้วย

ป้องกันไม่ให้ลาม เป็นการประสานข้อมูลความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นระบบมากขึ้น  แม้แต่ละฝ่ายบอกว่าตัวเองมีเสถียรภาพดีอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่ามีข้อต่อที่เชื่อมกันอยู่

ส่วนในด้านอัตราแลกเปลี่ยน การที่ไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศมากเป็นกันชน แต่อีกด้านหนึ่งส่งผลให้เกิดทุนไหลเข้ากดดันเงินบาทแข็งค่ากว่าภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา ไม่สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของตลาด ซึ่ง ธปท.พยายามส่งเสริมให้เงินบาทสอดคล้องกับภูมิภาค อาทิ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์แลกเงินให้สะดวกขึ้น ต้นทุนต่ำลง เปิดให้เอกชนถือครองเงินตราต่างประเทศมากขึ้น

"แต่จุดสำคัญ ถ้าเรากระตุ้นการลงทุนของประเทศให้สูงขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง แรงกดดันเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนของเราก็จะน้อยลงได้ แต่ต้องเป็นการลงทุนที่เพิ่มศักยภาพให้ประเทศด้วย" เมธี กล่าว