posttoday

สิทธิประโยชน์ ‘มนุษย์เงินเดือน’ หลัง‘เกษียณ’

24 ธันวาคม 2561

รู้หรือไม่ว่า ... มนุษย์เงินเดือน หลังจากเกษียณอายุการทำงาน มีสิทธิประโยชน์อะไรกันบ้าง

เรื่อง ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์ 

รู้หรือไม่ว่า ... มนุษย์เงินเดือน หลังจากเกษียณอายุการทำงาน มีสิทธิประโยชน์อะไรกันบ้าง

เรื่องที่ต้องรู้ ... ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ประเด็นสำคัญคือ ปรับค่าชดเชยใหม่กรณีเลิกจ้างจะเพิ่มเป็น 6 อัตรา จาก 5 อัตรา สำหรับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชยอัตราใหม่เป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน โดยเป็นการปรับเพิ่มเติมสำหรับคนที่ทำงานมาครบ 20 ปี

จากเดิมกำหนดค่าชดเชยการเลิกจ้างงาน เป็น 5 อัตรา คือ

1.ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

2.ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน

3.ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน

4.ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน

5.ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

และล่าสุด 6.การปรับเพิ่มอัตราค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชยอัตราใหม่เป็น 400 วัน (จากเดิม 300 วัน โดยเป็นการปรับเพิ่มเติมสำหรับคนที่ทำงานมาครบ 20 ปี)

เกษียณแล้วต้องได้เงินชดเชยตามกฎหมาย

ประเด็นที่สำคัญคือ การ “เกษียณอายุ” = เลิกจ้างงาน ดังนั้นเมื่อลูกจ้างเกษียณอายุ นายจ้างก็จะต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายเช่นกัน ...

แม้ว่านายจ้างในภาคเอกชนในประเทศไทยก็ไม่มีการกำหนดอายุเกษียณแน่นอนสำหรับลูกจ้าง (ยกเว้นบางบริษัท) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ส่วนใหญ่ไม่มีการทำสัญญาจ้างและไม่มีกำหนดเวลาเกษียณเพื่อให้ลูกจ้างทำงานต่อไปเรื่อยๆ ถ้าใครทำไม่ไหวก็ลาออกไปเอง (เพื่อเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย)

ไม่ต้องมาตีความกันว่า หากนายจ้างไม่มีการกำหนดอายุเกษียณ ลูกจ้างจะถูกระงับสิทธิได้เงินชดเชยเลิกจ้างงานตามกฎหมาย...

เพราะว่ามีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 6 พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2560 โดยมาตรา 6 ให้เพิ่มประเด็นต่อไปนี้เป็นมาตรา 118/1 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คือ

- การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง

- ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่า 60 ปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้ โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ เกษียณอายุนั้น

สิ่งหนึ่งที่นายจ้างหลีกเลี่ยงการจ่ายงินชดเชย คือ ให้ “สมัครใจลาออก” เอง เพื่อเจรจาไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้

หากนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างเนื่องจากการเกษียณอายุ จะเกิดอะไรขึ้น

เท่ากับเป็นการไม่ปฏิบัติกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามมาตรา 118 และ 118/1 มีโทษทางอาญาและทางแพ่ง

โทษอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โทษทางแพ่ง ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยผิดนัดชำระในการจ่ายค่าชดเชยในอัตรา 15% ต่อปี และถ้าจงใจผิดนัดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรจะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 15% ทุกๆ ระยะ 7 วัน

สิทธิประโยชน์ ‘มนุษย์เงินเดือน’ หลัง‘เกษียณ’


“เงินบำนาญ” ของมนุษย์เงินเดือน

พนักงานประจำ หรือ “มนุษย์เงินเดือน” ถึงแม้ว่าเกษียณอายุการทำงานไปแล้ว อย่าลืม! ยื่นขอรับเงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคม

ใครบ้าง “มีสิทธิ” รับเงินบำนาญจากประกันสังคม

1.คุณต้องมีอายุ 55 ปีก่อน หรือถ้าอายุ 55 ปีแล้วยังทำงานอยู่ก็จะเบิกได้จนกว่าคุณจะเลิกทำงาน หรือสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

2.ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี (180 เดือน)

รับเงินบำนาญเท่าใด

#กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือนมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

# กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน

เงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย+1.5% ระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน

ตัวอย่าง ประกันตนทำงานได้รับเงิน
ค่าจ้างเดือนละ 1.5 หมื่นบาท และส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

1.ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญ

= 15 ปี (แรก) ได้อัตราเงินบำนาญ 20%

= 5 ปี (หลัง) ได้อัตราเงินบำนาญ (1.5% (ปรับเพิ่ม) ×5 ปี) = 7.5%

รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปี = 20%+7.5% = 27.5%

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน = 27.5% ของ 1.5 หมื่นบาท = 4,125 บาท/เดือนจนตลอดชีวิต

2.กรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 5 ปี ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน

= 4,125 บาท×10 เท่า = 41,250 บาท

*ที่สำคัญอย่าลืมการขอคืนเงินออมชราภาพให้เสร็จสิ้นก่อน 1 ปีหลังจากเกษียณ ไม่งั้นจะหมดสิทธิ

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เมื่ออายุ 60 ปีแล้ว ต้องไปลงทะเบียนที่สำนักงานเขต กทม. อบต. หรือเทศบาล ซึ่งกฎหมายกำหนดให้คนไทยทุกคนเมื่ออายุ 60 ปีมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพอย่างเท่าเทียม ยกเว้นใครมีเงินเหลือเฝือสามารถที่จะบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืนกระทรวงการคลังเพื่อนำไปสมทบและจ่ายเพิ่มเติมให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้เงินเท่าไหร่

การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต โดยเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ ดังนี้

- อายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน

- อายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน

- อายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือน

- อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน

นี่เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ว่าสิทธิผู้เกษียณอายุควรจะได้รับอะไรบ้าง แต่อย่าชะล่าใจเพราะเงินเพียงเท่านั้นคงไม่เพียงพอที่เราจะใช้จ่ายได้ในชีวิตหลังเกษียณ

ดังนั้น เราต้องรู้จักวางแผนการเงินเตรียมพร้อมก่อนเกษียณ จะทำให้เราเกษียณอย่างมีความสุข

สิทธิประโยชน์ ‘มนุษย์เงินเดือน’ หลัง‘เกษียณ’