posttoday

สงครามการค้ากดดัน ส่งออกปี'62 โตแผ่ว 4.5%

22 ธันวาคม 2561

เส้นทางส่งออกสินค้าไทยในปี62 คาดเผชิญหลายปัจจัยทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าชะลอลงจาก7%ในปี 61 มาอยู่ที่ 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกเฉลี่ยประมาณ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ส่งออกสินค้าของไทยในปี 2562 จะขยายตัว 4.5% (กรอบประมาณการที่ 2-6%) ซึ่งขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2561 ซึ่งเป็นผลของฐานที่สูงในปีก่อน การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกที่คาดว่าจะเคลื่อนไหวในระดับที่ต่ำกว่าปีก่อน รวมไปถึงผลของประเด็นข้อพิพาททาง การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่คาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2562 ราว 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เส้นทางการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2562 คาดว่าจะเผชิญหลายปัจจัยท้าทายที่ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าชะลอลงจาก 7% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกเฉลี่ยประมาณ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนไม่น่าจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ภายในระยะเวลา 90 วัน เนื่องจากมีรายละเอียดที่ค่อนข้างจะซับซ้อน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้สหรัฐจะยังคงปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน (รอบ 2 แสนล้านดอลลาร์) จาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 มี.ค. 2562 แต่ก็คงจะไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2.67 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มเติม

ทั้งนี้ การปรับขึ้นภาษีในรอบนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยประมาณ 3,100 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.6% ของจีดีพีประเทศ

นอกจากประเด็นเรื่องสงครามทางการค้าที่ยืดเยื้อแล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2562 จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยในปีหน้า โดยมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2562 จะชะลอลงมาที่ร้อยละ 6.2 ซึ่งเป็นผลของการปรับโครงสร้างประเทศ (Structural Reform) และผลจากข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐ

การส่งออกสินค้าของไทยในเดือน พ.ย. 2561 กลับมาหดตัว 0.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการค้าของประเทศ อื่นๆ ในภูมิภาคที่ผ่อนแรงลง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 ชะลอลงมาอยู่ที่ 7.29%

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน พ.ย. 2561 อยู่ที่ 21,237.2 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 0.95% โดยหลักๆ แล้ว เป็นผลมาจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย ไม่ว่าจะเป็นข้าว (หดตัว 22.4%) ยางพารา (หดตัว 25%) น้ำตาลทราย (หดตัว 32%) รถยนต์นั่ง (หดตัว 26.9%) รวมไปถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (หดตัว 9.5%)

การส่งออกสินค้าของไทยที่ติดลบในเดือน พ.ย. 2561 นั้นเป็นไปตามทิศทางการค้าในภูมิภาคที่ผ่อนแรงลงมากกว่าการคาดการณ์ของ Consensus ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกสินค้าของจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมไปถึงอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ทำให้แต่ละประเทศมีการเร่ง นำเข้า-ส่งออก (Front-Loading) ไปในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อเร่งผลิตสินค้า และส่งออกให้ทันก่อนช่วงเทศกาลปลายปี (Thanksgiving-คริสต์มาสวันปีใหม่) และก่อนที่สหรัฐจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน (รอบ 2 แสนล้านดอลลาร์) จาก 10% มาเป็น 25% ในวันที่ 1 ม.ค. 2562

อย่างไรก็ตาม การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนรอบล่าสุด (เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2561) ได้ข้อสรุปออกมาว่า ทั้งสองประเทศจะระงับการเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 90 วัน (จนถึงวันที่ 1 มี.ค. 2562) เพื่อเปิดทางไปสู่การเจรจาในรายละเอียดเพื่อยุติประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ การที่สหรัฐยืดระยะเวลาการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนจาก 10% ไปเป็น 25% ออกไปอีก 60 วัน (จากวันที่ 1 ม.ค. 2562 ไปเป็นวันที่ 1 มี.ค. 2562) ก็น่าจะทำให้บรรยากาศความตึงเครียดของการค้าโลกในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2561 ผ่อนคลายลงบ้าง ซึ่งจะช่วยให้การค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคกลับมาขยายตัวได้ในช่วงเดือน ธ.ค. 2561

ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 11 เดือนแรก (เดือน ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2561 ขยายตัว 7.29% ชะลอลงจากช่วง 10 เดือนแรกที่อยู่ที่ 8.19%

ทั้งนี้ เมื่อมองไปในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2561 แม้บรรยากาศความตึงเครียดของการค้าโลกจะคลี่คลายลงในระดับหนึ่ง แต่เดือน ธ.ค. เป็นเดือนแห่งเทศกาลที่มีวันทำงานน้อยกว่าเดือนอื่นๆ ของปี ซึ่งก็น่าจะทำให้มูลค่าการ ส่งออกสินค้าของไทยผ่อนแรงลงจากช่วงเดือนก่อนหน้า มาอยู่ในช่วงประมาณ 2 หมื่น-2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยตลอด ทั้งปี 2561 ขยายตัวได้ราว 7% ชะลอลงจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 9.9%