posttoday

ชำแหละนโยบายศก.ฐานราก ช่วยคนจนหรือหาเสียง

15 ธันวาคม 2561

ทีดีอาร์ไอ จัดเสวนาสาธารณะ : สวัสดิการประชาชน และมาตรการแก้จน บนโจทย์วินัยทางการเงิน

โดย...กัลย์ทิชา นับทอง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) จัดการเสวนาสาธารณะ : สวัสดิการประชาชน และมาตรการแก้จน บนโจทย์วินัยทางการเงิน โดยเชิญนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำมาร่วมวิเคราะห์นโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า นโยบายการแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย เป็นการบรรเทาผล กระทบด้านความยากจนที่ตรงจุด เมื่อเทียบกับมาตรการอื่น เพราะประชาชนจะได้นำเงินเหล่านี้ไปใช้จ่ายตามความต้องการที่แท้จริง ทั้งในส่วนของการซื้ออาหาร ใช้จ่ายในครอบครัว

โดยรัฐบาลปัจจุบันมีการใช้งบสังคมของไทยปี 2561 อยู่ที่ 7.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น้อย หากตั้งเป้าไว้ที่ 10% ของจีดีพี จะต้องเพิ่มงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท/ปี เพื่อเป็นการใช้จ่ายทางสังคม และควรตัดงบประมาณบางส่วนออก เช่น งบป้องกันประเทศลง เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการเงิน

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท ถือเป็นนโยบายการหาเสียงเพราะเป็นการดำเนินการครั้งเดียว และเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติทางการเมือง ที่รัฐบาลก่อนหน้าก็มีการทำในลักษณะเดียวกัน

ด้าน อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า สวัสดิการประชาชน มาตรการแก้จนของรัฐบาล บนโจทย์วินัยทางการคลัง เป็นนโยบายหรือมาตรการที่ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก และไม่ได้จำกัดแค่ผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น เพราะที่ผ่านมา พบว่าการดำเนินนโยบายได้ขาดการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบถึงแรงจูงใจและภาระการคลัง ทำให้คนมีภาระหนี้เกินตัว จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในหลายมาตรการไม่ได้เป็นการช่วยเหลือที่จำกัดเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น แต่ผู้มีรายได้สูงจะได้ประโยชน์มากกว่า อาทิ สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี อีกทั้งการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ยังขาดกลไกการติดตามระยะยาว การประเมินความคุ้มค่าอย่างเป็น กลาง และมีวิธีการประเมินอย่างชัดเจน ซึ่งการประเมินจะต้องมาจากหน่วยงานที่เป็นอิสระจากการสั่งการของรัฐบาล สังคมเชื่อถือได้

ขณะที่ ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในการดูแลสวัสดิการของประชาชน ในเรื่องของระบบสาธารณสุข การศึกษา และเด็ก แต่ยอมรับว่าค่อนข้างกังวลในเรื่องงบประมาณของรัฐบาลที่มีจำกัด เพราะหากนำเงินไปใช้ในด้านของสวัสดิการเพิ่มขึ้น อาจจะกระทบต่องบประมาณด้านการลงทุน และการเข้ามาของเทคโนโลยีอาจจะทำให้เกิดความ เหลื่อมล้ำมากขึ้นได้

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นโยบายประชานิยม มีที่มาจากการเลือกตั้งของพรรคการเมือง ที่จะมีรูปแบบการหาเสียง 3 รูปแบบ คือ 1.การแจกเงิน หรือให้สิ่งของ 2.การให้โครงการ ซึ่งเป็นเฉพาะกลุ่มสมาชิก และสุดท้าย คือ นโยบายซึ่งเป็นการสัญญาว่าจะให้อะไรเมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล ดังนั้นในส่วนของนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อย 500 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการ หาเสียงเลือกตั้งจากนโยบายประชานิยมซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ในระยะสั้นเท่านั้น

"ในการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะมีการหาเสียง 3 วิธี ซึ่งนโยบายแจกเงิน 500 บาทของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนนำไปจับจ่ายใช้สอยในขณะนี้ ก็เป็นการหาเสียงและมันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการคิดมาแล้ว เพราะการซื้อเสียงเลือกตั้ง 500 บาท ถือเป็นราคาตลาดในการซื้อเสียง" ประจักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมีสวัสดิการคนในสังคมเพิ่มขึ้น มีการใช้จ่ายงบประมาณด้านสังคมที่ยั่งยืน ซึ่งการแจกเงินให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาโครงสร้าง โดยการแก้ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำของสังคม ยอมรับว่าไม่สามารถตัดปัญหาทางการเงินได้ เพราะเงินเป็นอำนาจการ ต่อรองทางการเมือง ดังนั้น ประชาชนจะต้องสร้างอำนาจการต่อรองให้เกิดขึ้นโดยการรวมกลุ่มกัน อีกทั้งรัฐควรดำเนินนโยบายด้านสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำให้แก่ประชาชน