posttoday

"คลัง"เผย1ปีมีผู้สูงอายุสละเบี้ยยังชีพแค่400ราย

10 ธันวาคม 2561

คลังอึ้งยอดบริจาคเข้ากองทุนผู้สูงอายุ 1 ปี มีคนสละเบี้ยเพียง 400 ราย จากเป้า 5 แสนราย ได้เงิน 4,000 ล้าน

คลังอึ้งยอดบริจาคเข้ากองทุนผู้สูงอายุ 1 ปี มีคนสละเบี้ยเพียง 400 ราย จากเป้า 5 แสนราย ได้เงิน 4,000 ล้าน

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ เป้าหมายเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐที่กระทรวงการคลังรณรงค์ให้ผู้สูงอายุที่ร่ำรวยยกเงินเบี้ยรายเดือนให้กับผู้สูงอายุยากจน ล่าสุดมีผู้สูงอายุทำเรื่องสละเบี้ยเพียงกว่า 400 รายเท่านั้น นับตั้งแต่เริ่มเปิดโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา จากที่ตั้งเป้าหมายระยะแรกจะมีผู้สูงอายุ 5 แสนคนที่ยอมสละเบี้ย คิดเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท

“ผ่านมาจะ 1 ปี มีผู้สูงอายุยอมสละเบี้ยแค่ 400 กว่าคน ถือว่าน้อยมาก อาจเพราะก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อ่อนประชาสัมพันธ์ ทำให้ข้อมูลข่าวสารไม่แพร่หลาย ซึ่งตอนนี้ได้เพิ่มช่องทางสละเบี้ยถึง 35 ช่องทาง โดยสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านธนาคารทุกแห่งได้ ซึ่งผู้บริจาคเบี้ยจะได้รับเหรียญพระคลังเชิดชูเกียรติ และได้สิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1 เท่าของเงินบริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนแล้ว” รายงานข่าวระบุ

สำหรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีผู้รับเบี้ยชราภาพทั้งหมด 8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุและมีรายได้น้อยราว 3 ล้านคน ที่เหลือ 5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่มีฐานะดี ซึ่งคาดว่าใน 5 ล้านราย มี 3 ล้านราย ที่เป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้

ปัจจุบันผู้สูงอายุตั้งแต่ 60-70 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาท ผู้ที่มีช่วงอายุ 70-80 ปี ได้รับเบี้ยเดือนละ 700 บาท ช่วงอายุ 80-90 ปี ได้รับเบี้ยเดือนละ 800 บาท และอายุตั้งแต่ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ย 1,000 บาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะจ่ายเงินตรงเข้าบัญชีผู้สูงอายุเลย

ก่อนหน้านี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การนำไปเติมให้ผู้สูงอายุอีกเดือนละ 50-100 บาท ยังไม่สามารถทำได้มากนัก เพราะเงินที่จะมาเติมให้ผู้สูงอายุจะมาจากเงินที่มีผู้สูงอายุยอมสละเบี้ยด้วย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้จะมีเงินเข้ามาเพิ่มจากเงินบำรุงกองทุนจากภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสินค้าสุราและยาสูบปีละไม่เกิน 4,000 ล้านบาท และเงินบริจาคเข้ากองทุนผู้สูงอายุตามโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพ ซึ่งเงินกองทุนจาก 2 แหล่งนี้จะนำมารวมกันและจ่ายเข้าสวัสดิการแห่งรัฐของผู้สูงอายุที่มียอดลงทะเบียนกว่า 3.6 ล้านคน