posttoday

คาดธุรกรรมดิจิทัลฮิตใน3ปี! ธ.กรุงเทพเชื่อสัดส่วนคนใช้งาน90%

03 ธันวาคม 2561

ธนาคารกรุงเทพ เชื่อธุรกรรมบนดิจิทัลกินสัดส่วน 90% ภายใน 3 ปี แผนปีหน้าลงทุนเต็มที่ เริ่มลดสิทธิพิเศษเงินสดจูงใจไปช่องทางใหม่

ธนาคารกรุงเทพ เชื่อธุรกรรมบนดิจิทัลกินสัดส่วน 90% ภายใน 3 ปี แผนปีหน้าลงทุนเต็มที่ เริ่มลดสิทธิพิเศษเงินสดจูงใจไปช่องทางใหม่

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วย ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าการทำธุรกรรมบนช่องทางดิจิทัลของลูกค้าธนาคารกรุงเทพ โดยเฉพาะธุรกรรมบนโทรศัพท์มือถือจะมีสัดส่วนสูงถึง 90% ภายใน 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีสัดส่วนมากที่สุดเกือบ 60% เป็นอันดับ 1 ขึ้นมาแทนช่องทางเอทีเอ็ม โดยแนวโน้มธุรกรรมจะย้ายมายังโลกดิจิทัล โดยเฉพาะโอนเงิน จ่ายบิล สมัครบริการ

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการใช้บริการดิจิทัล ธนาคารมีแผนยกระดับการใช้บริการบัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง อย่างต่อเนื่องภายในครึ่งแรกของปีหน้า โดยจะลงทุนหลักหลายพันล้านบาท นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาเสริมการให้บริการเพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่ประทับใจ (Wow Experience) และเป็นช่องทางสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า เช่น การนำเสนอและขายผลิตภัณฑ์ และทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าธนาคารอยู่ใกล้ตัว

สำหรับการเปิดบัญชีผ่านช่องทางดิจิทัลคาดว่าเกิดขึ้นได้ในต้นปีหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เควายซี) ในแซนด์บ็อกซ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าภายในปีแรกจะมีลูกค้าเปิดบัญชีเกือบแสนราย หลังจากนั้นก็จะต่อยอดไปสู่การปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัล (ดิจิทัลเลนดิ้ง) ทั้งการปล่อยสินเชื่อรายย่อยและเอสเอ็มอี โดยจะทำงานร่วมกับฟินเทคสตาร์ทอัพจากโครงการอินโนฮับ ปี 2 พัฒนาโซลูชั่นสำหรับลูกค้าเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ ปริมาณธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคารเติบโตเกือบ 130% หลังจากยกเลิกค่าธรรมเนียมช่องทางดิจิทัลตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. เป็นต้นมา ขณะที่ธุรกรรมสาขาลดลงเกือบ 10% และธุรกรรมเครื่องเอทีเอ็มไม่เติบโต สิ้นปีนี้คาดว่าฐานลูกค้าโมบายแบงก์กิ้งอยู่ที่ 7 ล้านราย และปีหน้าตั้งเป้าท้าทายเป็น 10-11 ล้านราย

นางปรัศนี กล่าวว่า ภาพรวมธุรกรรมบนเครื่องเอทีเอ็มถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกรรมโอนเงิน จ่ายบิล ผ่านเอทีเอ็มลดลง ย้ายไปใช้โมบายแบงก์กิ้งแทน แต่การกดเงินสดยังมีอยู่ ซึ่งเชื่อว่าธุรกรรมเงินสดอาจจะไม่ได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ แต่ไม่ได้โตเหมือนในอดีต จึงไม่คิดจะขยายเครือข่ายเอทีเอ็มแล้ว

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนจากการใช้เงินสด เนื่องจากการบริหารจัดการเงินสดของประเทศสูง ได้มีการหารือกับ ธปท. ในการลดสิทธิพิเศษของเงินสดและเช็คลง คู่ขนานไปกับการให้ทำธุรกรรมฟรีบนดิจิทัลและเพิ่มช่องทางชำระเงินที่สะดวกสบาย เพื่อปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค อาทิ ถอนเงินผ่านเอทีเอ็มข้ามธนาคารจากฟรี 5 ครั้ง เหลือ 3 ครั้ง/เดือน เป็นต้น แต่จะเริ่มเมื่อใดขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป และขึ้นอยู่กับความพร้อมของตลาด