posttoday

สนช.เห็นชอบกม.ภาษีที่ดิน เดินหน้าเก็บภาษี 4 ประเภท

16 พฤศจิกายน 2561

มติสนช.เห็นชอบกม.ภาษีที่ดิน เดินหน้าเก็บภาษี 4 ประเภท อุ้มเกษตรกร 3 ปีแรก

มติสนช.เห็นชอบกม.ภาษีที่ดิน เดินหน้าเก็บภาษี 4 ประเภท อุ้มเกษตรกร 3 ปีแรก

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 169 คะแนนสมควรให้ประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นกฎหมาย โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ กำหนดให้การจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563

ขณะที่ สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. คือ การกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกเป็น 4 ประเภท

1.ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หากมีมูลค่า 0-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.01%  มูลค่า 75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03% มูลค่า 100-500 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05 %

2.ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.03% มูลค่า75-100 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05 % มูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.1 % ทั้งนี้ในกรณีบ้านหลังหลัก หากเป็นเจ้าของบ้านและเจ้าของที่ดิน ให้ได้รับการยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก  ส่วนกรณีเป็นเจ้าของเฉพาะบ้านอย่างเดียว ได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาท

3.ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม หากมีมูลค่า 0-50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.3% มูลค่า 50-200 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.4% มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.5% มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.6% มูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.7%

4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า คิดอัตราภาษีเริ่มต้น 0.3% และเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก3ปี หากยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ แต่รวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 3

นอกจากนี้ ยังมีบทเฉพาะกาลว่า ใน3ปีแรกของการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายฉบับนี้ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีแก่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรม

สำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว สนช.ได้ใช้เวลาพิจารณาเป็นเวลานาน โดยที่ประชุมสนช.รับหลักการในวาระ 1 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ซึงระหว่างนั้นได้ขอขยายระยะเวลาการพิจารณา จำนวน 9 ครั้ง โดยล่าสุด คือเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2561 จากนั้นร่างพ.ร.บ.ได้กลับเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่สนช.อีกครั้ง ในวาระ 2 และวาระ 3 เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2561 ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปี 7 เดือน 16 วัน