posttoday

ภาวะเงินออมไทยวิกฤต

13 พฤศจิกายน 2561

ภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ชี้ออมเพื่อเกษียณของคนไทยอยู่ในขั้นวิกฤต กระทุ้งออกแบบระบบบำนาญคลุมแรงงาน 38 ล้านคน

ภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ชี้ออมเพื่อเกษียณของคนไทยอยู่ในขั้นวิกฤต กระทุ้งออกแบบระบบบำนาญคลุมแรงงาน 38 ล้านคน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวในงานสัมมนา ระบบการออมเพื่อการเกษียณรองรับสังคมผู้สูงอายุ ว่า ไทยมีเงินกองทุนเพื่อการเกษียณต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในอัตราที่ต่ำเพียง 7% เทียบกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (โออีซีดี) อยู่ที่ 50% และนอกกลุ่มโออีซีดีอยู่ที่ 20%

ดังนั้น ควรออกแบบระบบบำนาญ ให้ครอบคลุมแรงงานทั้ง 38 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการยังชีพหลังเกษียณ คือ 50-70% ของรายได้ขณะทำงาน ปัจจุบันมีเพียงข้าราชการเท่านั้นที่เพียงพอ ส่วนแรงงานในระบบประกันสังคมได้เพียง 24% แรงงานนอกระบบได้เพียง 10% และผู้ที่อยู่ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทำได้ 12% หากรวมทั้ง 3 ระบบไม่ถึง 50% รัฐบาลจึงควรเร่งผ่านกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ออกมาโดยเร็ว

น.ส.สุปาณี จันทรมาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการออม การลงทุนและพัฒนาตลาดทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า แรงงานในระบบ 11.6 ล้านคน มีถึง 5 ล้านคนที่รายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท/เดือน และเงินที่ได้จากการออมในระบบประกันสังคม 15 ปีแค่ 4,000 บาท/เดือน และสูงสุดจะได้เพียง 7,500 บาท/เดือน ซึ่งไม่ถึง 20% ของรายได้เดือนสุดท้าย หากกฎหมาย กบช.ออกมา จะทำให้รายได้หลังเกษียณเพิ่มขึ้นอีก 7% ก็ช่วยบรรเทาได้ระดับหนึ่ง

นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การออมของคนไทยอยู่ในภาวะวิกฤต ดูจากสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีเพียง 3 ล้านคน

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ล่าสุดสัดส่วนการออมภาคครัวเรือนของไทยลดลงมาอยู่ที่ 18% จาก 25%

ด้านนางพรอนงค์ บุษราตระกูล  หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การออมเงินของคนไทยถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤตมากๆ ซึ่งควรออม ไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้ต่อเดือน

ภาพประกอบข่าว