posttoday

กรมสรรพากรตั้งทีมไล่บี้ภาษี6แสนล.ป้องกันสำแดงเท็จ

07 พฤศจิกายน 2561

กรมสรรพสามิตตั้งทีม รีดภาษี หวังรายได้ปีงบประมาณ 2562 เข้าเป้า 6.03 แสนล้าน หลังพบแจ้งราคาขายปลีกต่ำกว่าเป็นจริง

กรมสรรพสามิตตั้งทีม รีดภาษี หวังรายได้ปีงบประมาณ 2562 เข้าเป้า 6.03 แสนล้าน หลังพบแจ้งราคาขายปลีกต่ำกว่าเป็นจริง

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ได้เซ็นคำสั่งตั้งกองกำกับและพัฒนามาตรฐานราคาสินค้าสรรพสามิตและกองกำกับ และตรวจสอบภาษีสรรพสามิตมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 เพื่อช่วยให้การเก็บภาษีของกรมมีประสิทธิภาพและได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 6.03 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากปลัดคลังและ รมว.คลัง แล้วให้ดำเนินการเป็นการเร่งด่วน

สำหรับกองกำกับและพัฒนามาตรฐานราคาสินค้าสรรพสามิต แยกออกมาจากสำนักจัดเก็บภาษีเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบราคาขายปลีกแนะนำสินค้าที่ผู้ประกอบการส่งให้กรมสรรพสามิต เพื่อใช้เป็นฐานเก็บภาษีให้ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากตรวจพบว่า มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แจ้งราคาขายปลีกกับกรมขวดละ 200 บาท แต่ขายจริงในตลาดประมาณขวดละ 4,000-5,000 บาท ดังนั้น จึงต้องตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาตรวจสอบการแจ้งราคาขายปลีกของสินค้าทุกสินค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช้ตรวจปีละ 2 ครั้ง เหมือนที่ทำมาก่อนหน้า

ขณะที่กองกำกับและตรวจสอบภาษีสรรพสามิตแยกออกมาจากสำนักปราบปราม เพื่อตรวจสอบราคาขายปลีกสินค้าย้อนหลังอีกครั้งหนึ่ง เพราะกฎหมายใหม่มีการเปลี่ยนฐานเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงานหรือราคาสำแดงนำเข้ามาเป็นราคาขายปลีก การตรวจสอบราคาสำแดงย้อนหลังจึงมีความสำคัญมาก

นอกจากนี้ ยังพบว่างานกำกับและตรวจสอบภาษีที่รวมอยู่กับงานปราบปรามย้อนหลังไป 5 ปี ไม่มีการจับกุมสินค้าที่เลี่ยงภาษีจากการตรวจสอบการเสียภาษีย้อนหลังเลย

"การตั้งหน่วยงานใหม่ 2 กอง ช่วยให้มีการตรวจสอบราคาขายปลีก ช่วยลดการรั่วไหลของภาษี ซึ่งสินค้าที่มีการผลิตในประเทศจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่สินค้าแปลกๆ และมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ยังพบว่ามีปัญหาแจ้งราคาขายปลีกต่ำกว่าเป็นจริง" นายพชร กล่าว

นายพชร กล่าวว่า การเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตปีงบประมาณ 2562 คาดว่าจะได้ตามเป้าหมาย หลังจากมีการปรับโครงสร้างการทำงานใหม่เป็นการเร่งด่วน แม้ว่าการเก็บภาษีเดือน ต.ค. 2561 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 จัดเก็บภาษีได้ 2.68 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 9,863 ล้านบาท เนื่องจากภาษีน้ำมันต่ำกว่าเป้าหมาย 8,339 ล้านบาท และภาษีเบียร์ต่ำกว่าเป้าหมาย 4,222 ล้านบาท เนื่องจากมีการส่งภาษีไปล่วงหน้าในปีงบก่อน ขณะที่การเก็บภาษียาสูบสูงกว่าเป้าหมาย 1,842 ล้านบาท และภาษีรถยนต์สูงกว่าเป้าหมาย 1,876 ล้านบาท ซึ่งเป็นรถยนต์ขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น แสดงว่าประชาชนมีกำลังบริโภคมากขึ้น

สำหรับปีงบประมาณ 2561 กรมจัดเก็บภาษีได้ 5.8 แสนล้านบาท ซึ่งได้ตามเป้าหมายที่ได้ทำข้อตกลงไว้กับกระทรวงการคลัง แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ระบุไว้ในเอกสารงบประมาณ 1.95 หมื่นล้านบาท