posttoday

จับตาส่งออก-ท่องเที่ยว หลังไตรมาส 3 ชะลอตัว

27 ตุลาคม 2561

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มสินเชื่อในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ว่า สินเชื่อธุรกิจและเอสเอ็มอี ยังต้องจับตาผลกระทบจากภาคต่างประเทศโดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยว

โดย....ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มสินเชื่อในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ว่า แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนหลายทาง โดยเฉพาะปัจจัยฤดูกาลที่คงมีผลบวกต่อสินเชื่อทุกประเภท แต่ในส่วนของ สินเชื่อธุรกิจและเอสเอ็มอี ยังต้องจับตาผลกระทบจากภาคต่างประเทศโดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยว หลังมีสัญญาณชะลอตัวในช่วงปลายไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ในส่วนของสินเชื่อรายย่อยนั้น คาดว่าปีนี้คงมีปัจจัยเฉพาะที่ช่วยหนุนการเติบโตของสินเชื่อได้ในทุกประเภท ได้แก่ 1) สินเชื่อเพี่อที่อยู่อาศัย จากการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปี 2561 ในช่วงก่อนที่แนวนโยบายการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธปท. จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2562 2) สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถจากความต้องการซื้อรถใหม่ที่แข็งแกร่งในปีนี้ 3) สินเชื่อบุคคลไม่มีหลักประกัน(บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับฯ) จากการแข่งขันทั้งเรื่องราคา และช่องทางการตลาดใหม่ผ่านดิจิทัลเลนดิ้ง

สำหรับแนวโน้มเงินฝากในช่วงที่เหลือของปี ธนาคารคงมุ่งบริหารจัดการต้นทุนการเงินและการใช้ประโยชน์จากสภาพคล่องให้เกิดสมดุล ซึ่งคงเผชิญความท้าทายมากขึ้นท่ามกลางภาวะการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์การออมอื่นๆ เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่คงเข้มข้นขึ้น ตามปัจจัยเชิงฤดูกาลในช่วงท้ายปี ประกอบกับการเตรียมการรับมือกับโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีหน้าด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูล สินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2561 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

สินเชื่อสุทธิเดือน ก.ย. 2561 ค่อนข้างทรงตัว ตามสินเชื่อภาคธุรกิจที่มีทิศทางลดลง

ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน ก.ย. 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.76 พันล้านบาท หรือ 0.03% เป็น 11.345 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยฤดูกาลที่ความต้องการสินเชื่อในไตรมาส 3 มักชะลอตัว อย่างไรก็ดี เนื่องจากปีนี้มีปัจจัยสนับสนุนจากสินเชื่อรายย่อยที่ขยายตัวได้ดีทุกประเภท จึงทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อสุทธิรวมในเดือนนี้ยังปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนและไตรมาสก่อน รวมทั้งขยายตัวได้ถึง 5.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ แม้ว่าสินเชื่อเอสเอ็มอี จะปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ยอดคงค้างของสินเชื่อธุรกิจในภาพรวมปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากมีการชำระคืนสินเชื่อ ประกอบกับธุรกิจบางส่วนอาจมีทางเลือกในการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินก่อนที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

เงินฝากเดือน ก.ย. 2561 ค่อนข้างทรงตัว ตามการบริหารจัดการสภาพคล่องให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ภาพรวมเงินฝากเดือน ก.ย. 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.93 พันล้านบาท หรือ 0.03% MoM เป็น 12.276 ล้านล้านบาท โดยที่แต่ละธนาคารต่างมีความเคลื่อนไหวแตกต่างกันไปตามสภาพคล่องโดยรวมของตน ทั้งนี้เพื่อบริหารจัดการสภาพคล่องให้เกิดประโยชน์สูงสุด และควบคุมต้นทุนการเงินโดยรวมที่เริ่มมีทิศทางขยับขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและสิ้นปีก่อน เงินฝากยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 4.91% และ 1.47% ตามลำดับ

สภาพคล่องของระบบเดือน ก.ย. 2561 ผ่อนคลายลงเล็กน้อย หลังธนาคารออกตราสารหนี้เพิ่ม

ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารผ่อนคลายลงเล็กน้อย แม้ว่าสินเชื่อสุทธิและเงินฝากจะปรับตัวในทิศทางเดียวกันและมีปริมาณใกล้เคียงกัน แต่ธนาคารบางแห่งมีการออกตราสารหนี้และเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากที่รวมตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ขยับลงเป็น 87.43% จากระดับ 87.63% ในเดือนก่อนหน้า และสอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ปรับขึ้นมาที่ 21.30% จากระดับ 21.01% ในเดือนก่อน