posttoday

ย้อนรอยปล่อยกู้ ‘เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ’

25 ตุลาคม 2561

ปัญหาการปล่อยกู้ให้ เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อกลางปี 60 เอิร์ธ ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วเงินระยะสั้นรวมวงเงิน 6,950 ล้านบาท

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

ปัญหาการปล่อยกู้ให้กับ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ที่เป็นประเด็นขึ้นมา อีกครั้ง เรื่องนี้เริ่มขึ้นเมื่อกลางปี 2560 เมื่อ EARTH ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) รวมวงเงิน 6,950 ล้านบาท จากที่มีหนี้ทั้งหมด 2.5 หมื่นล้านบาท ทำให้สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ระงับวงเงินสินเชื่อทั้งหมด

ปัญหาการปล่อยกู้ให้กับ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ที่เป็นประเด็นขึ้นมา อีกครั้ง เรื่องนี้เริ่มขึ้นเมื่อกลางปี 2560 เมื่อ EARTH ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) รวมวงเงิน 6,950 ล้านบาท จากที่มีหนี้ทั้งหมด 2.5 หมื่นล้านบาท ทำให้สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ระงับวงเงินสินเชื่อทั้งหมด และบริษัทไม่สามารถออกหุ้นกู้ใหม่ได้ ทำให้ขาดสภาพคล่องจนถึงขั้นต้องยื่นต่อศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ เจ้าหนี้ของ EARTH มีกรุงไทยเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ 1.2 หมื่นล้านบาท กสิกรไทย 2,800 ล้านบาท กรุงศรีอยุธยา 1,800 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 350 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น 2,900 ล้านบาท และหนี้หุ้นกู้อีก 5,500 ล้านบาท

หลังจากนั้นหนี้ของ EARTH ได้กลายเป็นหนี้เสียทั้งก้อน ทำให้ธนาคารเจ้าหนี้ทั้งหมดต้องตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มเติม โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทยเจอภาระหนักที่สุด ทำให้ผลกำไรธนาคารในปี 2560 เติบโตต่ำและทางคณะกรรมการธนาคารได้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จริงกรณีปล่อยกู้ว่าได้กระทำอย่างถูกต้องหรือไม่ จนพบว่า EARTH มีการใช้เอกสารใบตราส่งสินค้าทางเรือ (Bill of lading-B/L) นำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซียปลอม มาใช้เป็นหลักฐานในการขอกู้เงินจากธนาคาร 84 ฉบับ ตั้งแต่ปี 2555

หลังจากนั้นธนาคารกรุงไทยได้แจ้งความต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)เพื่อให้สอบสวนในเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ และเรื่องยังค้างการพิจารณาอยู่ที่ดีเอสไอจนถึงปัจจุบัน

เรื่องไม่น่าจะมีอะไรแปลกประหลาด แต่ต่อมาในขั้นของการทำแผนฟื้นฟูกิจการ ทางผู้ถือหุ้นได้แสดงรายการหนี้สินเพิ่มอีก 2.6 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่มีหนี้อยู่ 2.5 หมื่นล้านบาท รวมมีหนี้ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งทาง EARTH แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้การค้า กรณีนี้ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สอบสวน และได้กล่าวโทษกรรมการและอดีตกรรมการ EARTH รวม 11 ราย ต่อดีเอสไอตามรอยธนาคารกรุงไทย ในกรณีที่ผู้บริหารทั้งหมดยินยอมให้ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญเกี่ยวกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้น 2.6 หมื่นล้านบาท เพื่อลวงไม่ให้ผู้ลงทุนและเจ้าหนี้รู้รายละเอียดที่แท้จริงของหนี้สิน

ผู้ถูกกล่าวโทษ คือ (1) พิสุทธิ์ พิหเคนทร์ (2) ขจรพงศ์ คำดี (3) ธนาวรรธน์ ประทุมสุวรรณ์ (4) พิรุฬห์ พิหเคนทร์ (5) พิพรรธ พิหเคนทร์ (6) พิบูล พิหเคนทร์ (7) กาญจนา จักรวิจิตโสภณ (8) สมเกียรติศุขเทวา (9) สุริยาภรณ์ บุญชัย (10) เอกนฤน ธรรมมารักษ์ และ (11) ธงชัย วัฒนโสภณวงศ์

การที่ ก.ล.ต.ตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะมีผู้ร้องเรียนหลายรายร้องเรียนเกี่ยวกับหนี้สินจำนวน 2.6 หมื่นล้านบาทที่เพิ่มขึ้น ภายหลังจากที่ EARTH ส่งงบการเงินงวดไตรมาส 1/2560 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของหนี้สินนี้เป็นเหตุให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจาก 10,349 ล้านบาท เป็นติดลบ 15,651 ล้านบาท และคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้ EARTH เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อเดือน ก.ค. 2560 ก.ล.ต.จึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความมีอยู่และสถานะของหนี้สินที่เพิ่มขึ้น 2.6 หมื่นล้านบาท

ก.ล.ต.ระบุว่า การกระทำข้างต้นของกรรมการและอดีตกรรมการของ EARTH ทั้ง 11 ราย ที่ร่วมกันดำเนินการมีส่วนรู้เห็น ยินยอม หรือสนับสนุนให้ลงข้อความเท็จ หรือไม่ลงข้อความสำคัญในรายละเอียดของหนี้สินดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการลวงให้ผู้ลงทุนและเจ้าหนี้เข้าใจผิดว่า EARTH มีภาวะหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน เป็นความผิดตามมาตรา 312 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ปี 2535 ก.ล.ต.จึงกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อดีเอสไอ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยการกระทำผิดอาจต้องระวางโทษอาญาโดยจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่5 แสน-1 ล้านบาท นอกจากนี้ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างตรวจสอบประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับมูลค่ายุติธรรมของทรัพย์สินและการบันทึกบัญชี ซึ่งหากพบว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต.จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

การถูกกล่าวโทษนี้ มีผลให้กรรมการและอดีต กรรมการข้างต้นเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศ ก.ล.ต. จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี

พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยความคืบหน้าแผนฟื้นฟูของ EARTH ที่อยู่ในระหว่างการทำแผน โดยบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่เซอร์วิสเซส หรือ EY ผู้ที่ได้รับคำสั่งจากศาลล้มละลายกลางให้เป็นผู้จัดทำแผน ขณะนี้ธนาคารเจ้าหนี้เร่งให้ผู้จัดทำแผนส่งแผนฟื้นฟูกิจการใหม่มาให้ หลังจากที่ทำมาแล้วรอบหนึ่งแต่ยังไม่ได้รับการเห็นชอบจากเจ้าหนี้