posttoday

เสียงแตกค้านเกณฑ์คุมสินเชื่อบ้าน

25 ตุลาคม 2561

นายแบงก์ใหญ่มองต่างมุม เกณฑ์คุมสินเชื่อบ้าน "ผยง" ค้าน "บัณฑูร-บรรยง" เชื่อ ธปท.เห็นสัญญาณเสี่ยงจึงเร่งสกัด

นายแบงก์ใหญ่มองต่างมุม เกณฑ์คุมสินเชื่อบ้าน "ผยง" ค้าน "บัณฑูร-บรรยง" เชื่อ ธปท.เห็นสัญญาณเสี่ยงจึงเร่งสกัด

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะออกมาตรการกำกับดูแล การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในลักษณะเหมาเข่ง เพราะปัญหาเกิดจากไม่กี่สถาบัน แต่กลับออกมาตรการเป็นวงกว้าง ทั้งที่สถาบันการเงินบางแห่งทำระบบการปล่อยสินเชื่อไว้สมดุลในเรื่องของผลตอบแทนกับความเสี่ยงภายใต้เกณฑ์ที่เหมาะสม อยู่แล้ว เบื้องต้นได้นำเสนอความเห็นแจ้งแก่ ธปท.แล้วว่ามีวิธีการอื่นแบบ ไม่เหมาเข่งแบบนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ ธปท.ว่าจะเลือกใช้แบบไหน

อย่างไรก็ดี หากเกณฑ์ออกมาบังคับใช้ก็ไม่กระทบกับการปล่อยสินเชื่อบ้านของธนาคารกรุงไทยมากนัก เพราะโดยหลักของการปล่อยสินเชื่อบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เราพิจารณาประกอบอยู่แล้ว แต่สำหรับบ้านหลังที่ 2 มีเหตุผลของการซื้ออยู่อาศัยจริงมากกว่าการเก็งกำไร ส่วนบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ ที่มีคุณภาพเช่นติดรถไฟฟ้า

"สิ่งที่กังวลหากบ้านหลังที่ 2 ถ้า ผู้ซื้อบ้านใหม่ แต่อยู่ระหว่างการขายบ้านเก่า ต้องถูกเกณฑ์ใหม่ด้วย จะทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ แน่นอน ธปท.ดูภาพรวมทั้งประเทศ มีข้อมูล ทั้งระบบที่เราไม่มี" นายผยง กล่าว

สำหรับประเด็นสินเชื่อเงินทอนที่ให้วงเงินมากกว่าราคาซื้อขาย กรุงไทยไม่ทำอยู่แล้ว และหากพบก็จะตั้งข้อสังเกตว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (เวลอปเปอร์) รายนั้นเป็นลูกหนี้ที่ไม่น่าไว้วางใจ โดยความผิดส่วนนี้ ธปท.สามารถสั่งจัดชั้นพิเศษสำหรับสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้ดีเวลอปเปอร์เฉพาะราย

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย กล่าว่า การออกมาตรการสินเชื่อบ้านของ ธปท.เป็นเรื่องดีแล้ว ดีกว่าปล่อยให้บรรลัยกันอีกรอบ  เพราะเรื่องนี้เป็นดุลพินิจของ ธปท. อย่างไรก็ตามทิศทางถูกต้องเพราะต้องเป็นคนอ่านโจทย์ความเสี่ยงในระบบมีขนาดไหนเพราะเหตุการณ์เมื่อปี 2540 เพราะ ไม่อ่านกันนั่นคือความล้มเหลวของ ธปท.ที่ปล่อยให้ระบบลากตัวเองลงเหว แล้วตัวเองนั่งดูตาปริบๆ อันนั้นคือความล้มเหลวในการควบคุมดูแลระบบ

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า เห็นด้วยกับเจตนาของ ธปท. เมื่อเห็นว่ามีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบ ก็สามารถใช้ Macro Prudential ได้ แต่รายละเอียดก็ว่ากันไป ในทางปฏิบัติจะทำได้จริงมากแค่ไหน แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่ธนาคารกลาง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพ เห็นว่าการกู้โดยรวมสูงเกินไปก็เข้ามาช่วยเบรกความร้อนแรง

 

ภาพประกอบข่าว