posttoday

ออมสินอัดเงิน อุ้มสตาร์ทอัพ

13 ตุลาคม 2561

ออมสินโชว์เป้าปล่อยกู้สตาร์ทอัพปีหน้า 8.5 หมื่นล้าน พร้อมเตือนเบรกแบงก์ปล่อยกู้บ้านหลังสอง กระทบอสังหาริมทรัพย์สะดุดทั้งระบบ

ออมสินโชว์เป้าปล่อยกู้สตาร์ทอัพปีหน้า 8.5 หมื่นล้าน พร้อมเตือนเบรกแบงก์ปล่อยกู้บ้านหลังสอง กระทบอสังหาริมทรัพย์สะดุดทั้งระบบ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปี 2562 ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมีวงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงค้างของพอร์ตเอสเอ็มอีจะอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่ในปีนี้ ล่าสุดธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพไปแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท และมีสินเชื่อที่ค้างท่อรอการอนุมัติอีก 1 หมื่นล้านบาท ที่คาดว่าจะสามารถปล่อยกู้ได้หมดภายในปีนี้ ส่งผลให้ปีนี้ยอดสินเชื่อคงค้างในพอร์ตเอสเอ็มอีจะอยู่ที่ระดับกว่า 1.1 แสนล้านบาท

สำหรับความคืบหน้ากองทุนร่วมลงทุน ซึ่งมีวงเงิน 2,000 ล้านบาท ล่าสุดได้ร่วมลงทุนแล้ว 15 ราย เป็นเงิน 412 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 22 ราย รวมเป็นเม็ดเงินที่คาดว่าจะเข้าร่วมลงทุนกว่า 1,052 ล้านบาท

นายชาติชาย กล่าวถึงการปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อระบบธนาคารที่จะระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ เกิดการเก็งกำไร แต่อาจทำให้ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องสะดุด ทำให้ความต้องการซื้อตกลง และกระทบธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ มีการจ้างงานน้อยลงและมีปัญหาทั้งระบบเศรษฐกิจ

ปัจจุบันออมสินมีสัดส่วนการให้ สินเชื่อที่อยู่อาศัย เฉลี่ยรายละไม่เกิน 2 ล้านบาท คิดเป็น 70-80% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมด จึงไม่น่าจะได้รับ ผลกระทบจากมาตรการ และเชื่อว่า ผู้ที่มากู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะเป็นการกู้เพื่ออยู่อาศัยเอง ไม่ใช่การเก็งกำไร

อย่างไรก็ดี เห็นด้วยกับการใช้เกณฑ์สินเชื่อบ้านของ ธปท. เพราะ ธปท.อยากดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ให้เกิดปัญหาฟองสบู่ และก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่ออาศัยตามมูลค่าหลักประกัน (LTV Limit) ที่ 90-95% โดย ธปท.มองว่าสูงเกินไป จึงปรับให้เหลือ 80% โดยอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นว่าระดับดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งเกณฑ์การนับสินเชื่อ Top-Up ที่ใช้หลักประกันเดียวกันใน การยื่นกู้ ซึ่งจากเดิมมีการให้วงเงินเพิ่ม 5-10% จากหลักประกันมีความเหมาะสม หรือไม่