posttoday

แห่ร้องเรียนสินเชื่อ ครองแชมป์อันดับหนึ่ง

09 ตุลาคม 2561

สถิติครึ่งปีแรกประชาชนแห่ร้องเรียนบริการด้านการเงิน 701 รายการชี้เรื่องเงินสินเชื่อ ทั้งด้านบริการ-ดอกเบี้ย ไม่เป็นธรรม

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

เปิดสถิติครึ่งปีแรกประชาชนแห่ร้องเรียนบริการด้านการเงิน 701 รายการชี้เรื่องเงินสินเชื่อ ทั้งด้านบริการ-ดอกเบี้ย ไม่เป็นธรรม แต่พบโทรขายประกันลดลงหลังออกมาตรการมาร์เก็ตคอนดักต์ดูแล

ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  รายงานสถิติการร้องเรียนของ ประชาชนช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าประชาชนร้องเรียนด้านบริการทางการเงิน 701 รายการ เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีหลัง 2560 ที่ 130 รายการ หรือเพิ่มขึ้น 22.8% โดยเรื่องร้องเรียนด้านเงินให้สินเชื่อยังคงมีจำนวนสูงสุด ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ ไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการล่าช้า หรือให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง และเรื่องค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยที่คำนวณไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม
 
ด้านการร้องเรียนด้านสินเชื่อพบว่ามี 449 รายการ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องบัตรเครดิต เรื่องปฏิเสธรายการเรียกเก็บค่าสินค้าหรือบริการของร้านค้า ซึ่งลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้าหรือไม่ได้รับบริการ หรือได้รับบริการไม่เป็นไปตามที่ตกลง การไม่ได้รับสิทธิตามโปรโมชั่น และยังมีเรื่องการแจ้งยกเลิกบัตรเครดิตแล้ว แต่สถาบันการเงินไม่ดำเนินการและยังมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าติดตามทวงถามหนี้ เป็นต้น

ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อ พบว่าส่วนใหญ่ เป็นเรื่องเงินต้น ยอดหนี้ไม่ถูกต้อง ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย ที่ลูกค้าเห็นว่าคำนวณไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้ ดอกเบี้ยหรือค่าปรับล่าช้า เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน นอกจากนี้ยังพบเรื่อง ร้องเรียนด้านอื่นๆ เช่น การฝากเงินแต่ยอดเข้าไม่ครบ การโอนเงินแต่ไม่เข้าบัญชีปลายทาง รวมถึงการถอนเงินแต่ไม่ได้รับหรือได้รับไม่ครบ

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาจากการทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอี-แบงก์กิ้ง รวมถึงกรณีเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินทุจริต และมีผู้ ร้องเรียนหลายรายถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์หลอกถามข้อมูลส่วนตัวและนำไปสมัครใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง

อย่างไรก็ตาม พบว่าเรื่องร้องเรียนด้านโทรขายผลิตภัณฑ์ ลดลงจากปีที่ผ่านมา และเรื่องร้องเรียนด้าน Cross Sell จำนวน 17 รายการ ลดลงจากครึ่งปีหลัง 2560 จำนวน 8 รายการ หรือลดลง 32% หลังจาก ธปท.ได้ออกมาตรการกำกับดูแลด้านการบริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (มาร์เก็ตคอนดักต์) โดยเรื่องร้องเรียนหลักคือ การบังคับซื้อประกันหรือผลิตภัณฑ์อื่นร่วมกับการขอสินเชื่อ รองลงมาคือ การบังคับซื้อประกันหรือผลิตภัณฑ์อื่นร่วมกับเงินฝาก ส่วนใหญ่เป็นการเสนอขายผลิตภัณฑ์โดยให้ข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วน เช่น ชักชวนให้ทำประกันโดยเข้าใจว่าเป็นเงินฝากที่ให้ผลตอบแทนสูง การบังคับขายบัตรเดบิตพ่วงประกัน และการบังคับซื้อประกันร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น เช่น การบังคับให้ทำประกันในการเช่าตู้นิรภัย เป็นต้น

นอกจากนี้ ในปี 2562 ธปท.จะขยายขอบเขตการกำกับดูแลมาร์เก็ตคอนดักต์ให้ครอบคลุมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) บริษัท ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน (นาโนไฟแนนซ์) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) เพื่อยกระดับการบริหารจัดการด้านนี้ให้เป็น รูปธรรมยิ่งขึ้น

ด้านการให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องเรียน และรับแจ้งเบาะแสที่เกี่ยวกับภัยทางการเงิน 464 รายการ ลดลงจากครึ่งปีหลัง 2560 จำนวน 229 รายการ หรือลดลง 33% ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการขอคำปรึกษาและแจ้งเบาะแสการหลอกลวงทาง E-mail/Social Media 80 รายการ คือการถูกหลอกลวงให้โอนเงินจากชาวต่างชาติที่ติดต่อผ่าน Facebook โดยอ้างว่าได้โอนเงินหรือส่งพัสดุมาให้และต้องจ่ายค่าธรรมเนียม/ค่าภาษีก่อน การถูกแฮ็ก อีเมลและเปลี่ยนบัญชีผู้รับโอนเงินชำระค่าสินค้า การหลอกให้จ่ายค่าดำเนินการในการกู้เงิน การหลอกซื้อหรือขายของทางออนไลน์ รวมถึงการชักชวนให้ร่วมลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รองลงมาเป็นเรื่องบัตรอิเล็กทรอนิกส์ถูกนำไปใช้โดยบุคคลอื่นและถูกปลอมแปลงบัตร การหลอกลวงทางโทรศัพท์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

การหลอกลวงให้ลงทุน 39 รายการ เช่น การชักชวนให้ร่วมลงทุนในเงินดิจิทัล onecoin และหลอกให้ลงทุนในบริษัทหรือโครงการต่างๆ เช่น บริษัท พันปีกรุ๊ป โดยอ้างว่าเป็นโครงการเงินกู้ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากยูเอ็น และธุรกิจแชร์ลูกโซ่ รวมถึงการหลอกลวง ซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ และการ หลอกลวงวิธีอื่นๆ 22 รายการ เช่น หลอกให้สมัครสมาชิกกับบริษัทที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่