posttoday

เครดิตแบงก์ไทยแกร่ง

08 ตุลาคม 2561

"ฟิทช์ เรทติ้งส์" มีแนวโน้มคงมุมมองกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ

"ฟิทช์ เรทติ้งส์" มีแนวโน้มคงมุมมองกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ

************************

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีแนวโน้มคงมุมมองกลุ่มธนาคารพาณิชย์อยู่ระดับมีเสถียรภาพ แรงกดดันเอ็นพีแอลและตั้งสำรองลดลง ดอกเบี้ยขาขึ้นไม่กระทบต้นทุน ส่วนผลกระทบจากเกณฑ์กำกับดูแลน้อย

พาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสถาบันการเงิน บริษัท ฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ เป็นช่วงเวลาที่ฟิทช์จะประเมินการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรตติ้ง) บริษัทจดทะเบียน ประจำปี 2562 โดยแนวโน้มกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย มีแนวโน้มคงมุมมองอันดับเครดิตที่ระดับ มีเสถียรภาพ (Stable) ต่อเนื่องจากปี 2561

ก่อนหน้านี้ ในช่วงปี 2560 ฟิทช์ได้ให้มุมมองเชิงลบ (Negative) ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีประเด็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ทำให้การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น รวมทั้งการลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เป็นแรงกดดันกำไร

อย่างไรก็ดี แรงกดดันดังกล่าวลดลง ทำให้ฟิทช์ได้ปรับมุมมองของปี 2561 มาเป็นระดับมีเสถียรภาพ เป็นผลจากการปล่อยสินเชื่อเติบโตโดยได้อานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับ 4% แนวโน้มคุณภาพสินเชื่อปรับดีขึ้น หลังเอ็นพีแอลผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทำให้ภาระการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง และต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ (เครดิตคอสต์) ดีขึ้น

ส่วนปัจจัยความเสี่ยงต้นทุนจากการกำกับดูแล ทั้งมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (IFRS9) และเกณฑ์บาเซิล 3 นั้น มองว่า ไม่มีผลกระทบกับภาพรวมผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีการดำรงเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง และเตรียมพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าแบงก์มีค่าใช้จ่ายลงทุนด้านเทคโนโลยีมาก เพื่อรองรับการปรับไปสู่บริการดิจิทัล แต่เราพบว่า แบงก์สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี ประกอบกับค่าใช้จ่ายตั้งสำรองลดลงจากคุณภาพสินเชื่อดีขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนต่อรายได้ (Cost to Income) ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมีฐานะแข็งแกร่งจากเงินกองทุนเพิ่มขึ้น ภายใต้ความสามารถสร้างรายได้ที่อยู่ในเกณฑ์ดี” พาสันติ์ กล่าว

ส่วนการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกเกณฑ์กำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น พาสันติ์ มองว่า เป็นแนวทางปฏิบัติปกติของฝ่ายกำกับดูแลเมื่อพบสัญญาณเริ่มต้นของความเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่ง ธปท.มีเครื่องมือหลากหลายในการบริหารจัดการ

ทั้งนี้ การออกมาตรการดังกล่าวของ ธปท.ไม่ได้กระทบกับเครดิตเรตติ้งของสถาบันการเงินไทย แต่ช่วยลดความเสี่ยง (Downside Risk) ของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย

ปัจจุบันหากพิจารณาอันดับเครดิตของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของไทย อาทิ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีอันดับเครดิตเท่ากับอันดับเครดิตรัฐบาลไทย ที่ BBB+

พาสันติ์ กล่าวว่า ความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนโลก และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ เกิดผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ไทยน้อยมาก เนื่องจากธนาคารไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งกว่าเมื่อเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น มีกันชนเพียงพอในการรองรับความผันผวนได้เป็นอย่างดี

การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ธนาคารพาณิชย์ไทยมีหนี้ต่างประเทศน้อย แม้ว่าที่ผ่านมาเห็นธนาคารใหญ่ออกหุ้นกู้ในสกุลดอลลาร์สหรัฐบ้าง แต่เป็นการออกเพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบอายุ รวมทั้งธนาคารแต่ละแห่งมีธุรกิจและการให้สินเชื่อในต่างประเทศที่เป็นสกุลดอลลาร์ด้วย จึงไม่ใช่การระดมทุนแบบผิดวัตถุประสงค์ (Mismatch) แต่อย่างใด

สำหรับภาคธนาคารของประเทศในเอเชียแปซิฟิก (APAC) ส่วนใหญ่น่าจะสามารถรับมือกับการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐได้ หากสหรัฐปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและส่งสัญญาณล่วงหน้าอย่างเหมาะสม แต่เป็นห่วงความเสี่ยงคุณภาพสินทรัพย์ในประเทศที่ธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินในระดับสูงหรือมีความสามารถชำระคืนหนี้อ่อนแอ เช่น เวียดนาม มองโกเลีย และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องกรณีที่ตลาดเงินตลาดทุนเกิดภาวะชะงักงันจากความวิตกกังวลในตลาด

“อย่างไรก็ตาม ภาคธนาคารประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นของสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานและกฎเกณฑ์การกำกับดูแล” พาสันติ์ กล่าว