posttoday

ต่างชาติมั่นใจเศรษฐกิจไทยแกร่ง! โยกลงทุนพันธบัตรแสนล้าน

07 ตุลาคม 2561

นักลงทุนต่างประเทศโยกเงินจากตลาดหุ้นซบตราสารหนี้ ต่างชาติซื้อสุทธิ 1 แสนล้าน ดันยอดถือครองตราสารหนี้ไทย 9.4 แสนล้าน ทำสถิติสูงสุด

นักลงทุนต่างประเทศโยกเงินจากตลาดหุ้นซบตราสารหนี้ ต่างชาติซื้อสุทธิ 1 แสนล้าน ดันยอดถือครองตราสารหนี้ไทย 9.4 แสนล้าน ทำสถิติสูงสุด

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติได้ซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่องและไหลเข้ามาชัดเจนนับตั้งแต่เดือน ส.ค. ส่งผลให้มียอดซื้อสุทธิจากต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และทำให้ยอดถือครองสุทธิของต่างชาติในตราสารหนี้ของไทยขึ้นมาอยู่ที่ 9.4 แสนล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

“เงินต่างชาติไหลเข้ามาชัดเจนในเดือน ส.ค.-ก.ย. หลังประเทศในตลาดเกิดใหม่มีปัญหาเรื่องเงินไหลออก ทำให้ค่าเงินสกุลท้องถิ่นอ่อนค่าลงทั้งอินโดนีเซีย อินเดีย ขณะที่ประเทศไทยมีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในตลาดเกิดใหม่ เช่น หนี้ต่างประเทศต่ำ โดยมีเพียง 2% ของจีดีพี และยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้ต่างชาติมั่นใจและมาลงทุน” น.ส.อริยา กล่าว

อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินที่ไหลเข้ามานั้นไม่ได้เป็นเงินร้อนหรือเข้ามาเก็งกำไร เพราะกว่า 50% ของเม็ดเงินที่เข้ามาจะเข้ามาลงทุนในพันธบัตร (บอนด์) ที่มีอายุยาว ต่างจากอดีตที่จะมาลงในอายุสั้นๆ มากกว่า

สำหรับกรณีที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 3.20% สูงสุดรอบ 7 ปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มอีก เป็นการสะท้อนว่านักลงทุนเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแผนของธนาคารกลางสหรัฐ จึงมีการโยกเงินลงทุนจากตลาดหุ้นเข้าไปพันธบัตรแทน เพราะมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าผลตอบแทนจากเงินปันผล

ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรไทย 10 ปี ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมาอยู่ที่ 2.7-2.8% แต่ยังบอกไม่ได้ว่าผลตอบแทนของไทยและสหรัฐจะห่างกันถึงระดับไหน และห่างกันจนแตะระดับที่จะชี้ว่ามีเงินไหลออก ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นว่าถึงระดับที่จะทำให้เงินไหลออก

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บล.ภัทร กล่าวว่า ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล มีหนี้ต่างประเทศในสัดส่วนที่ไม่สูง และมีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับที่เพียงพอจึงน่าจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีได้

สำหรับตลาดหุ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงปรับฐานต่อเนื่องได้รับแรงกดดันจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังสหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่กับแคนาดาและเม็กซิโก แต่การเจรจาการค้ากับจีนยังไร้ความคืบหน้า ความเปราะบางของประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หลังราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี สะท้อนว่ามีการโยกเม็ดเงินจากตลาดหุ้นเข้าลงทุนในพันธบัตร ตอบรับการที่เศรษฐกิจสหรัฐดีและการขึ้นดอกเบี้ยยังคงเป็นตามแผน

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยช่วงสัปดาห์แรกของไตรมาส 4 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันขายสุทธิ 2.19 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดตราสารหนี้นั้นต่างชาติมียอดซื้อสุทธิที่ 1.5 หมื่นล้านบาท

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แรงขายของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้หุ้นไทยปรับตัวลดลงมาซื้อขายที่ระดับพี/อี 16 เท่า และมีแนวโน้มที่จะปรับฐานต่อ โดยมีปัจจัยผลกระทบจากสงครามการค้า หลังกำแพงภาษีสหรัฐ-จีน ใช้มาระยะหนึ่ง ซึ่งพบว่าตัวเลข PMI ปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศปรับตัวสูงขึ้น กระตุ้นให้อัตราดอกเบี้ยขยับตัวเพิ่มขึ้นในที่สุด

ขณะที่ บล.กสิกรไทย มองว่าสัปดาห์หน้าดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,705 และ 1,690 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,730 และ 1,740 จุด ตามลำดับ