posttoday

แบงก์หอบข้อมูลหารือธปท.เกณฑ์สินเชื่อบ้านใหม่

05 ตุลาคม 2561

ธนาคารพาณิชย์-ธนาคารรัฐ เร่งศึกษาเกณฑ์สินเชื่อบ้านใหม่ ก่อนเสนอความเห็น 11 ต.ค.นี้ หวั่นกำหนด LTV กันลูกค้าเข้าไม่ถึงป้องกันความเสี่ยง

ธนาคารพาณิชย์-ธนาคารรัฐ เร่งศึกษาเกณฑ์สินเชื่อบ้านใหม่ ก่อนเสนอความเห็น 11 ต.ค.นี้ หวั่นกำหนด LTV กันลูกค้าเข้าไม่ถึงป้องกันความเสี่ยง

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า กังวลประเด็นการกำหนดวงเงินสินเชื่อต่อหลักประกัน (LTV) ที่รวมท็อปอัพที่ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่ออาจเข้าไม่ถึงบริการนี้ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารอะลุ้มอล่วยปล่อยกู้เพิ่มเติมเพราะค่าเบี้ยสูง เป็นการจ่ายเงินครั้งเดียวคุ้มครองตลอดอายุสินเชื่อ

อย่างไรก็ดี ภาพรวมมาตรการเป็นผลดีกับอุตสาหกรรม และการดูแลเน้นดูแลกลุ่มบ้านที่ราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท เป็นคนกลุ่มน้อยไม่กระทบกับดีเวลอปเปอร์มาก เชื่อว่า เมื่อได้วางแผนล่วงหน้าทุกฝ่ายปรับตัวได้ จากนี้จะไปศึกษามาตรการและวิเคราะห์ผลกระทบกับผู้บริโภคก่อนเสนอข้อคิดเห็นแก่ ธปท.ในวันที่ 11 ต.ค.นี้

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ไม่ได้รับผลกระทบจากการ ออกเกณฑ์ของ ธปท. เนื่องจากเน้นปล่อยสินเชื่อให้ผู้ที่มีรายได้น้อยและ ปานกลาง แม้ว่าจะเป็นบ้านหลังที่สองก็ซื้อเพื่ออยู่จริง ไม่ใช่เก็งกำไร โดยในวันที่ 11 ต.ค. จะเดินทางเข้าไปร่วมให้ความเห็นกับ ธปท. และรับฟังรายละเอียดเกณฑ์ให้ชัดเจน แต่เชื่อว่า จะทำให้การปล่อยสินเชื่อกลับมาอยู่บนหลักความยุติธรรม ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เลิกกระตุ้นสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยการให้โปรโมชั่นต่างๆ และมาแข่งในเรื่องการบริหารต้นทุน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารมีความระมัดระวัง และทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าของธนาคารจะซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยที่แท้จริง และไม่ได้มีการซื้อเก็งกำไร ส่วนกฎเกณฑ์ใหม่เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อคนที่ต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 เท่านั้น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมออกมาตรการมาควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ว่า ไม่มีปัญหา เพราะเชื่อว่าสถาบัน การเงินของรัฐปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างระมัดระวัง การควบคุมจะยิ่งเพิ่มความรอบคอบมากขึ้น เป็นการดูแลคุณภาพสินเชื่อในระบบซึ่งเป็นเรื่องที่ดี โดยมองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการปล่อยกู้ของระบบสถาบันการเงิน เพราะผู้มีรายได้น้อยก็ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยอยู่