posttoday

กสิกรยันอสังหาไทยยังแกร่ง

29 กันยายน 2561

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ตลาดบ้านเสี่ยงน้อยเทียบปี 2540 ขณะที่บ้านราคาแพงส่อเอ็นพีแอลพุ่ง ปรับเป้าสินเชื่อทั้งระบบโต 6%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ตลาดบ้านเสี่ยงน้อยเทียบปี 2540 ขณะที่บ้านราคาแพงส่อเอ็นพีแอลพุ่ง ปรับเป้าสินเชื่อทั้งระบบโต 6%

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 โดยพิจารณาจากหนี้สินต่อทุน (ดี/อี) ของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใน ตลท. อยู่ที่ 1.31 เท่า และตลาดเอ็ม เอ ไอ อยู่ที่ 0.9 เท่า

อย่างไรก็ตาม พิจารณาจากที่อยู่อาศัยขายได้ (พรีเซล) ปี 2560 มี 9.2 หมื่นหน่วย พบว่าผู้ซื้อ 70% เป็นคนไทยได้อนุมัติสินเชื่อจากสถาบัน การเงินเป็นปกติ อีก 12% หรือประมาณ 1 หมื่นหน่วย ซื้อโดยชาวต่างชาติ และอีก 15-20% ระบุไม่ได้แน่ชัด เพราะอาจจะซื้อด้วยเงินสดหรืออาจเก็งกำไรก็ได้

"ถ้าจะมีการเก็งกำไรก็น่าจะอยู่ในสัดส่วนอื่นๆ ตรง 15-20% ซึ่งเป็นสัดส่วนไม่มาก แต่หาก ธปท.มีมาตรการ Macro Prudential จะช่วยให้ตลาดปรับตัวในทิศทางคุณภาพมากขึ้น ประกอบกับทางผู้ประกอบการเองก็ระวัง เพราะช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลให้ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยตึงตัว เพราะมีสถิติดอกเบี้ยขึ้น สินเชื่อบ้านจะชะลอ และโครงการเปิดใหม่น้อยลง" น.ส.เกวลิน กล่าว

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ธปท.มีแนวคิดจะออกมาตรการกำกับดูแล (Macro Prudential) ดูแล สินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 4 นั้น คาดว่าส่งผลกระทบโดยภาพรวม ไม่มาก เพราะทิศทางสินเชื่อที่อยู่อาศัยเทียบกับมีสัดส่วนต่ำไม่ร้อนแรงจนน่าเป็นห่วง ทั้งมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ หมดไปแล้ว ธนาคารยังปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และคุณภาพสินเชื่อยัง ดีอยู่

อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่อยู่อาศัยในกลุ่มบ้านราคา 1-3 ล้านบาท เอ็นพีแอล ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่บ้านราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป เอ็นพีแอลสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ที่เห็นสัญญาณหนี้เสียเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ผู้ซื้อเป็นผู้ประกอบการ เชื่อมโยงกับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังฟื้นตัวช้า เพราะเศรษฐกิจเติบโตไม่กระจาย

สำหรับภาพรวมสินเชื่อปีนี้ได้ปรับเพิ่มประมาณการเติบโตเป็น 6% จากเดิม 5% โดดเด่นจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คาดว่าโต 10.5% เป็นเลข 2 หลักในรอบหลายปีตามทิศทางยอด ขายรถยนต์ที่ปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 9.98 แสนคัน เติบโต 15% สินเชื่อไม่มี หลักประกันแบ่งเป็นบัตรเครดิตคาดว่าโต 7% และสินเชื่อบุคคลคาดว่าโต 2.5% มาจากการแข่งขันของผู้ประกอบการ ด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยคาดว่าปีนี้จะเติบโต 5.7%

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อ เอสเอ็มอีและสินเชื่อบ้านบางกลุ่ม คาดว่าเอ็นพีแอลพีกไตรมาส 3 ที่ระดับ  2.95%  และปรับลดลงเหลือ 2.9% สิ้นปีนี้

ภาพประกอบข่าว