posttoday

'กิตติพันธ์'เปิดใจครั้งแรก ปล่อยสินเชื่อ'EARTH'

28 กันยายน 2561

"กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ" เปิดใจ ปล่อยสินเชื่อ'EARTH' ยืนยัน เป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมชี้แจงกับคณะกรรมการสอบสวน

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

กรณีที่ธนาคารกรุงไทยจัดชั้นบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เป็นหนี้เสียและตั้งสำรองร่วม 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ เอิร์ธอยู่ในกระบวนการศาลทำแผนฟื้นฟู ส่วนธนาคารกรุงไทยตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ซึ่งหนึ่งในคนที่ถูกมองว่าต้องรับผิดชอบคือ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย "กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ" ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

ที่ผ่านมา "กิตติพันธ์" ไม่ได้ออกมาชี้แจงเรื่อง เอิร์ธ อย่างเป็นทางการ ได้แต่ยืนยันว่า การปล่อยสินเชื่อเป็นไปตามมาตรฐานและพร้อมชี้แจงกับคณะกรรมการสอบสวน แต่ดูเหมือนการไม่พูดจะเป็นผลลบ กิตติพันธ์ จึงตัดสินใจ เปิดใจในเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรก

กิตติพันธ์ กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวว่า มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน จนถึงขณะนี้ถูกเชิญไปให้ข้อมูลเพียง 1 ครั้งเท่านั้นเมื่อปีที่แล้ว จากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ อีก ส่วนตัวพร้อมชี้แจงทุกเรื่องเพราะเชื่อว่าหากทุกอย่างตรงไปตรงมาและตนเองไม่ได้มีส่วน รู้เห็นหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับลูกค้า ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล

กิตติพันธ์ กล่าวต่อไปว่า เกี่ยวข้องกับเอิร์ธในฐานะคนปล่อยสินเชื่อ ซึ่งขณะนั้นลูกค้าเป็นปกติยืนยันได้จากงบการเงินที่ตรวจสอบโดย PwC มีความเห็น Unqualified หรือไม่มีความเห็นว่าเกิดความผิดปกติ เป็นงบปกติ และหลังจากที่ปล่อยสินเชื่อไป บริษัทเอิร์ธได้เรตติ้งจากทริส BBB- อีกด้วย

ส่วนที่มีคนบอกว่าตนปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายนี้เป็นหมื่นล้าน ขอชี้แจงว่า เอิร์ธ เป็นลูกค้าเก่าของธนาคาร กรุงไทย มีวงเงินอยู่แล้ว 8,500 ล้านบาท จนกระทั่งมาถึงยุคตนได้ปล่อยเพิ่มไปประมาณ 4,500 ล้านบาท เป็นเงินสกุลต่างประเทศ 100 ล้านดอลลาร์ และเงินบาท 1,500 ล้านบาท จากนั้น กรุงไทยขายบอนด์เอิร์ธให้ลูกค้า รายย่อยรวมกัน 2 ครั้ง 5,500 ล้านบาท ส่วนที่เกี่ยวกับตนไม่ถึง 1 ใน 3 ของมูลหนี้

"หลังจากผมลาออกมาแล้ว กรุงไทยยังขายบอนด์ของเอิร์ธให้ลูกค้าอยู่ ซึ่งก่อนที่ผมจะออกเคยให้ความเห็นว่า ไม่น่าทำ เพราะจริงๆ ถ้าทำควรนำเงินที่ได้มาจ่ายหนี้คืนกรุงไทยดีกว่า"

หากดูตามเนื้อผ้าไม่มีอะไรที่เป็นห่วง แต่ต้องไปดูว่ามีวาระอย่างอื่นหรือเปล่า ซึ่งถ้าวาระไม่ใช่แค่ปล่อยสินเชื่อแต่เป็นความเสียหายอื่น เช่น ลูกค้าที่ซื้อบี/อี คนซื้อก็เป็นลูกค้ากรุงไทย หลายคนเป็นคนมีอายุ ซื้อกันคนละเป็นล้านเพราะคาดหวังดอกเบี้ย 4-5% คนกลุ่มนี้เดือดร้อนหมด เชื่อว่า ทางการคงสอบสวนแล้วถึงการเสนอขาย ซึ่งหากทางกรุงไทยตอบว่า ตอนนั้นเอิร์ธเป็นลูกค้าที่ดี แล้วมันไม่ขัดกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสินเชื่อหรือ

อย่างไรก็ตาม หากลูกค้าตั้งใจโกงธนาคาร (ฟรอด) ก็ต้องถูกลงโทษเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบไป แต่ในด้านคนทำงานธนาคารไม่มีใครรู้ว่าจะถูกโกง แม้เอกสารปลอมนั้นเป็นขั้นตอนขึ้นมาไม่ถึงระดับตน โดยเป็นขั้นของพนักงานที่ทำเทรดไฟแนนซ์ ซึ่งต้องยุติธรรมกับคนที่อยู่หน้างานด้วย หากลูกค้าตั้งใจโกงไปเปลี่ยนแปลงตัวเลขบางอย่าง ด้วยสายตาคนธรรมดาก็ยากที่จะเห็น ถ้าไม่มีใครมีส่วนรู้เห็นกับลูกค้า แต่จะมาลงโทษคนทำงาน ต่อไปคงหาคนมาทำงานด้วยยาก

"เอกสารหลักฐานต่างๆ ไม่ได้ผ่านตาผม คนดูเป็นลูกน้องระดับล่างลงไป 3-4 ระดับ ทุกคนทำตามระเบียบธนาคารมีเช็คและบาลานซ์ตลอด เช่น ฝั่งสินเชื่อ อนุมัติสินเชื่อพร้อมเงื่อนไข ฝั่งปฏิบัติการก่อนปล่อยออกก็เช็กเงื่อนไขซ้ำอีกทีว่าตรงกับที่บอร์ดอนุมัติมาไหม"

กิตติพันธ์ ยืนยันว่า ตนไม่ได้เซ็นอนุมัติสินเชื่อ เพราะโดยตำแหน่งแล้ว ไม่ได้มีหน้าที่อนุมัติ หน้าที่หลักดูภาพใหญ่ผลักดันนโยบายต่างๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อจะผ่านบอร์ดกลั่นกรองที่ตนและผู้บริหารทุกคนเป็นกรรมการ โดยขั้นตอนเอิร์ธต้องเข้าบอร์ดบริหาร และส่งมาที่บอร์ดกลั่นกรอง ซึ่งวันที่บอร์ดกลั่นกรองพิจารณาเอิร์ธตนไม่อยู่พอดีไปต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาต้นเหตุตั้งแต่การวิเคราะห์ธุรกิจ การเป็นเอ็นพีแอลมาจาก 3 ส่วน 1.อุตสาหกรรมไม่ดี 2.บริหารจัดการไม่ดี 3.โครงสร้างทางการเงินมีปัญหา ซึ่งขณะนั้นอุตสาหกรรมถ่านหินกำลังหันหัวดีขึ้นจนตอนนี้ราคา นิวคาสเซิล 100 ดอลลาร์จากเคย 40 ดอลลาร์ ส่วนงบการเงินไตรมาสแรกปีที่แล้วยอดขายเพิ่ม 8,000 ล้าน อีบิตดาก็ดีขึ้น ขณะที่โครงสร้างทางการเงินทริสให้เรตติ้ง BBB- ในภาพรวมเอิร์ธไม่ได้แย่

แต่มีปัญหาภายนอกจากการขาดสภาพคล่องเมื่อถูกเรียกคืนบี/อีจำนวนหนึ่ง กรุงไทยสงสัยว่าเอิร์ธเอาเงินไปคืนหนี้บี/อี ระบุว่า ผิดวัตถุประสงค์ จึงตัดสินใจตัดวงเงิน ทำให้ธุรกิจที่เริ่มดีขึ้นต้องประสบปัญหา แม้จะบอกว่าเป็น ฟรอดแต่จนถึงวันนี้ยังตรวจสอบไม่ได้แต่ตัดวงเงินไปก่อน

"แม้ลูกค้าไม่ดี 3 อย่างที่ระบุ สิ่งที่ธนาคารพึงทำ ต้องผ่อนให้ ชำระคืนเต็มไม่ได้ก็คืนบางส่วน ต้องมีพื้นที่ ให้หายใจ ทำไมสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับเอิร์ธ แตกต่างจากเคสเอ็นพีแอลอื่นอย่างไร แบงก์มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของตัวเองและสเตกโฮลเดอร์รอบตัว รวมทั้งลูกค้ารายย่อยที่ธนาคารขายบอนด์ให้ โดยทำให้ลูกค้ามีแวลูมากที่สุด ไม่ใช่พอลูกค้ามีปัญหาก็ไปตัดหนทางเขา"