posttoday

คืนเงินแวตครบเครื่อง ล้างภาพมาตรการประชานิยม

20 กันยายน 2561

มาตรการคืนเงินเท่ากับภาษีแวต ได้รับการเพิ่มเติมเสริมจุดแข็งปิดจุดอ่อน ทำให้มาตรการนี้หลุดพ้นจากภาพของมาตรการประชานิยม จนสามารถผลักดันใช้เป็นมาตรการระยะยาวต่อไปได้ในอนาคต

โดย... เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

มาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีแวต 7% ให้กับผู้มีรายได้น้อยจำนวน 11.5 ล้านคน รายละไม่เกิน 500 บาท/เดือน ใช้เงินเพื่อดำเนินการ 5,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไปล่าสุด ถือว่ารายละเอียดของมาตรการรอบด้านมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า มาตรการชดเชยเงิน ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษี แวตที่ ครม.เห็นชอบ ได้มีการออกแบบมาตรการให้ประโยชน์ทั้งการลดค่าครองชีพในครัวเรือน กระตุ้นการใช้จ่ายของเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้มีเงินสำรองเก็บไว้ใช้เลี้ยงชีพในอนาคต และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ลดการใช้เงินสดตามนโยบายของรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริม และจูงใจให้ร้านค้าเป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนภาษีแวต อันจะเป็นการสร้างความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจและสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนให้กับประเทศ โดยมาตรการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561-30 เม.ย. 2562

สำหรับการคืนเงิน รัฐจะคงเงินที่จ่ายเป็นภาษีแวตไว้ 1% ก่อน เพื่อให้ ผู้มีรายได้รู้ว่ายังมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ให้กับประเทศ ส่วนที่เหลือ 6% จะนำมาจำแนกข้อมูลเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1

จำนวน 5% เพื่อการใช้จ่าย เงินในส่วนนี้จะโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ทั้งนี้ การใช้จ่ายซื้อของในร้านธงฟ้าที่อยู่ในระบบภาษีแวต และติดตั้งเครื่องอีดีซี (EDC) และเครื่องพีโอเอส (POS) ซึ่งขณะนี้มีร้านธงฟ้า 3.5 หมื่นแห่ง อยู่ในระบบภาษีแวต 13% หรือจำนวน ร้าน 3,800 แห่ง ในจำนวนนี้มี 3,000 แห่งที่เป็นร้านขนาดเล็ก รัฐบาลเลยสนับสนุนการติดตั้งเครื่องพีโอเอส โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนร้าน ขนาดใหญ่หากต้องการเข้าระบบติดตั้งเครื่องโอพีเอส จะต้องออกค่าใช้จ่ายเองประมาณ 3 หมื่นบาท

คืนเงินแวตครบเครื่อง ล้างภาพมาตรการประชานิยม

สำหรับร้านธงฟ้าที่ไม่อยู่ในระบบภาษีแวต 3 หมื่นแห่ง ก็สามารถเข้ามาระบบภาษีแวต และขอติดตั้งเครื่องโอพีเอส ก็จะทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึง ร้านค้าเอกชนก็สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้มีรายได้น้อยให้มีช่องทางการซื้อสินค้ามากขึ้น

สำหรับการคืนเงินส่วนที่ 2 จำนวน 1% จะโอนเข้าบัญชีของผู้มีรายได้น้อยที่ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แต่ละราย ซึ่งตอนนี้ มีอยู่จำนวน 1.3 แสนราย ส่วนผู้มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิก กอช. แต่ยังไม่ได้สมัครจำนวน 6 ล้านคน ก็จะให้ทาง กอช.ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้รับเงินดังกล่าว ส่งผลให้สมาชิกของ กอช.เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 5 แสนคน

ขณะที่ผู้ที่ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิก กอช.อีก 5 ล้านคน กระทรวงการคลังจะหารือกับธนาคารต่างๆ เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารระยะยาวแบบ 0 บาท เพื่อโอนเงิน 1% เข้าในบัญชีนี้ โดยให้ธนาคารต้องพิจารณาผลตอบแทนที่เหมาะสม คือ ไม่น้อยกว่าที่การเป็นสมาชิกของ กอช. รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีรายปี เพื่อเป็นการส่งเสริมการออม โดยจะมีการหารือและหาข้อสรุปให้ได้เร็วที่สุด

"การคืนเงินเท่ากับภาษีแวต 6% ที่แบ่งเป็น 2 ส่วน รวมกันแล้วไม่เกิน 500 บาท/คน/เดือน โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมจำนวน 5,000 ล้านบาท โดยมาตรการนี้เป็นเฟสแรก หลังจากดำเนินการแล้วจะมีการประเมินประโยชน์ปัญหาอุปสรรคของมาตรการ เสนอให้ฝ่ายนโยบาย รับทราบ ส่วนจะดำเนินการต่อเฟส 2 ต่อไปเป็นโครงการระยะยาวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล" สุทธิรัตน์ กล่าว

สุทธิรัตน์ กล่าวว่า ข้อมูลการใช้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีสิทธิใน การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการ เกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐ 11 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 2560-ส.ค. 2561) พบว่ามีการใช้สิทธิจำนวน 128 ล้านครั้ง เป็นเงิน 3.81 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 99% ของจำนวนเงินการใช้สิทธิทั้งสิ้น 3.85 หมื่นล้านบาท ซึ่งการคืนเงินภาษีจะเกิดการกระตุ้นนำเงินที่ได้คืนไปใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า มาตรการคืนเงินเท่ากับภาษีแวต ที่ได้รับการเพิ่มเติมเสริมจุดแข็งปิดจุดอ่อน ทำให้มาตรการนี้หลุดพ้นจากภาพของมาตรการประชานิยม จนสามารถผลักดันใช้เป็นมาตรการระยะยาวต่อไปได้ในอนาคตโดยที่มีแรงต้านน้อยลง