posttoday

เสียงเริ่มแตก! กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 คงดอกเบี้ย 1.5%

19 กันยายน 2561

มติ กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจฟื้น ดันเงินเฟ้อเข้ากรอบ จับตาความเห็นต่างเพิ่มขึ้นเป็น 2 เสียงอยากให้ขึ้น

มติ กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจฟื้น ดันเงินเฟ้อเข้ากรอบ จับตาความเห็นต่างเพิ่มขึ้นเป็น 2 เสียงอยากให้ขึ้น

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 6/2561 ว่า คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี โดย คณะกรรมการฯ เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

ส่วนกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงเห็นควรให้ "ปรับขึ้น" อัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า กนง. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ไว้ที่ 4.4% เช่นเดียวกับปี 2562 ที่คงประมาณการ 4.2% โดยภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากการส่งออกและท่องเที่ยว รวมทั้งปัจจัยในประเทศที่ดีขึ้นจากการลงทุนและบริโภคภาคเอกชน แต่การใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐปีนี้ชะลอตัวลงกว่าคาด ส่วนปีหน้า คาดการณ์ส่งออกลดลงจากปัญหากีดกันทางการค้า ขณะที่ ปรับลดคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2561 ลงมาเป็น เกินดุล 3.54 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากนำเข้าโตมากกว่าที่ประเมิน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปียังมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ด้านภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย สภาพคล่องในระบบสูงดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนระดมทุนได้ต่อเนื่อง ด้านอัตราแลกเปลี่ยน นับจากการประชุมครั้งก่อนเงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินสกุลภูมิภาคจากความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพด้านต่างประเทศของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่่ากว่าที่ควร (underpricing of risks)นอกจากนี้คณะกรรมการฯ แสดงความกังวลต่อภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง

"มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยด้านต่างประเทศและในประเทศ แต่ต้องติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะต่อไป รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯและการตอบโต้จากประเทศเศรษฐกิจสำคัญ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป แต่การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอยลดความจำเป็นลง" นายจาตุรงค์ กล่าว