posttoday

รื้อค่าเช่าที่ราชพัสดุ

18 กันยายน 2561

ธนารักษ์ทบทวนค่าเช่า ที่ราชพัสดุทั่วประเทศใหม่ 10.45 ล้านไร่เพิ่มรายได้ ชงครม.ลงทุนหมอชิต2.6หมื่นล. ยันไม่แตะพื้นที่เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัยประชาชน

ธนารักษ์ทบทวนค่าเช่า ที่ราชพัสดุทั่วประเทศใหม่ 10.45 ล้านไร่เพิ่มรายได้ ชงครม.ลงทุนหมอชิต2.6หมื่นล. ยันไม่แตะพื้นที่เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัยประชาชน

น.ส.อมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 กรมมีแผนพิจารณาการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ 10.45 ล้านไร่ทั่วประเทศใหม่ โดยตั้งเป้าเพิ่มการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ 8,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ แบ่งเป็นที่ราชพัสดุที่ให้รัฐวิสาหกิจและเอกชนเช่า 3.96 แสนไร่ หรือสัดส่วน 4% ของพื้นที่ทั้งหมด หากสัญญาเช่าเดิมไม่เข้าฐานค่าเช่าที่เป็นจริงจะเจรจาขอทบทวนค่าเช่าให้เหมาะสม สำหรับที่ให้ส่วนราชการเช่า 96% หรือประมาณ 10 ล้านไร่ หากไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ก็จะเจรจาขอคืนพื้นที่เพื่อนำไปจัด ประโยชน์ใหม่

"การพิจารณาจัดประโยชน์ที่ครั้งนี้จะเน้นเจรจาเฉพาะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และเอกชนรายใหญ่ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ที่มีสัญญาอยู่และกำลังหมดสัญญาเท่านั้น ส่วนพื้นที่สำหรับให้ประชาชนอยู่อาศัย หรือที่เกษตรกรรมจะไม่เข้าไปยุ่ง เพราะไม่ต้องการให้กระทบต่อชาวบ้าน ส่วนที่ราชการเช่าขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางการขอคืนพื้นที่ว่าจะมีรูปแบบการนำส่งคืน รวมถึงการชดเชยสิทธิประโยชน์ หรือผลตอบแทนคืนให้อย่างไร" น.ส.อมรรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ จะบริหารจัดการทรัพย์สินที่ราชพัสดุแปลงใหญ่หลายโครงการ อาทิ สัปดาห์หน้าจะเสนอโครงการพัฒนา ที่ราชพัสดุขนส่งหมอชิตให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หลังเจรจากับเอกชนเสร็จแล้ว โดยปรับรูปแบบการลงทุนจาก 1.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 2.6 หมื่นล้านบาท พื้นที่พัฒนา 7 แสนตารางเมตร ในจำนวนนี้ชดเชยพื้นที่ให้กับรัฐ 1.2 แสนตารางเมตร พร้อมมอบผลตอบแทนเป็นเงินสด 600 ล้านบาท และทรัพย์สินอีก 2,400 ล้านบาท รวมเป็น 3,000 ล้านบาท โดยใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี เป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ มีศูนย์การค้า โรงแรม ที่จอดรถรองรับรถไฟฟ้าบีทีเอส และอพาร์ตเมนต์

ขณะที่การพัฒนาหอชมเมืองความสูง 459 เมตร มูลค่า 4,600 ล้านบาท ได้ทำสัญญาไปแล้วใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี บริหารโครงการ 30 ปี

สำหรับโครงการนำที่ราชพัสดุมา สนับสนุนพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ขณะนี้มีความคืบหน้า โดยในปี 2562 จะนำที่ราชพัสดุใน จ.นครพนม มุกดาหาร และหนองคาย ออกมาประมูลใหม่ จากที่ก่อนหน้านี้เปิดแล้วแต่ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล พร้อมกับมีการปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินใหม่จากรายบล็อกเป็นรายแปลง ซึ่งจะทำให้ค่าเช่าปรับลดลงจากไร่ละ 2,400 บาท/ปี เหลือ 1,800-2,100 บาท เพื่อจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุน