posttoday

รู้ลึกดิจิทัลไอดี ใหญ่กว่าแค่เปิดบัญชีง่าย

14 กันยายน 2561

"ดิจิทัลไอดี" เป็นโครงสร้างพื้นฐานการยืนยันตัวตนใหม่ ที่ขจัดข้อจำกัดเดิมของการยืนยันตัวตน

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.ดิจิทัลไอดี เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศที่จะเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ

"ดิจิทัลไอดี" เป็นโครงสร้างพื้นฐานการยืนยันตัวตนใหม่ ที่ขจัดข้อจำกัดเดิมของการยืนยันตัวตน ต้องเดินทางไปให้เจ้าหน้าที่เห็นหน้าเห็นตัวจริงประกอบการยื่นเอกสารหลักฐานในการทำธุรกรรมสัญญาต่างๆ เป็นความไม่สะดวกและต้องเสียเวลามาก บางคนต้องลางานเป็นวัน

ธุรกิจแรกที่จะนำร่องใช้ดิจิทัลไอดีคือภาคการเงิน เริ่มที่ธนาคาร ซึ่งออกผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัลอย่าง ต่อเนื่อง แต่เรื่องง่ายๆ ที่ยังไปดิจิทัล ไม่ได้คือ "การเปิดบัญชี" เพราะมีกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดว่าธนาคารต้องรู้จักตัวตนเห็นตัวจริงลูกค้า

บริษัท เนชั่นแนล ดิจิทัลไอดี หรือบริษัท เอ็นดีไอดี ซึ่งจดทะเบียนเมื่อเดือน ก.พ. 2561 ด้วยทุน 100 ล้านบาท ได้ จิระพงศ์ เลาห์ขจร เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลไอดี ซึ่งมาจากแนวคิดว่าเอกชนซึ่งเป็นผู้ได้ประโยชน์จากดิจิทัลไอดี ควรเป็นเจ้าของแพลต ฟอร์มนี้มากกว่ารัฐบาล

ล่าสุด บริษัท เอ็นดีไอดี กำลังร่างระเบียบข้อสัญญาสำหรับผู้ที่จะมาเป็นสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือองค์กรต่างๆ ที่จะเชื่อมโยงแพลตฟอร์มยืนยันตัวตน เพื่อให้ผู้ที่จะเชื่อมโยงเตรียมความพร้อมของระบบให้มีมาตรฐานตามที่กำหนด ปัจจุบันบริษัทนี้มีสมาคมธนาคารไทย ถือหุ้น 42.5% สมาคมประกันภัย 10% สมาคมประกันชีวิต 10% สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ 10% สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (TEPA) 7.5% และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) 20% ซึ่งในอนาคตเครดิตบูโรจะแบ่งหุ้นให้ธนาคารรัฐมาถือ 10%

ภาคการเงินโดยเฉพาะธนาคาร รอดิจิทัลไอดีมานาน เพราะเข้าช่วย ปลดล็อกการเดินทางไปเปิดบัญชีที่สาขา ของลูกค้า ขณะเดียวกันธนาคารก็เร่งพัฒนาวิธียืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เควายซี) มารองรับเมื่อดิจิทัลไอดีใช้ได้จริง

ปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ธนาคารพัฒนาเทคโนโลยีอี-เควายซี เป็นกลุ่มแรกในแซนด์บ็อกซ์ของ ธปท. ล่าสุด ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ มั่นใจว่า จะสามารถเปิดให้บริการยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันทีหาก ธปท.อนุมัติ ซึ่งคาดว่าราวเดือน ต.ค.นี้ พร้อมเปิดรับหากธนาคารหรือองค์กรใดต้องการให้ธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ยืนยันตัวตน (Identity Provider : IdP) ผ่านบริษัท เอ็นดีไอดี

ฐานข้อมูลธนาคารกรุงเทพค่อนข้างอัพเดท เก็บข้อมูลลูกค้าเป็น E-ID มาหลายปีแล้ว ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านราย ด้วยการใช้เครื่องอ่านสมาร์ทการ์ด ส่วนขั้นต่อไปทยอยเก็บข้อมูลใบหน้าเพื่อรองรับการยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมตริก เริ่มที่ Face Recognition ร่วมกับการพิสูจน์ตัวตนจากข้อมูลของกรมการปกครอง

สำหรับการนำมาใช้ในธนาคาร เฟสแรกจะรองรับการเปิดบัญชีของลูกค้าใหม่ ผ่านโมบายแบงก์กิ้งของธนาคาร(บัวหลวงเอ็มแบงก์กิ้ง) ที่จะพิสูจน์ตัวตนข้ามธนาคารจากธนาคารต้นทางที่ลูกค้าเคยใช้บริการอยู่แล้ว โดยได้ทดสอบการยืนยันข้ามธนาคารกับธนาคารพาณิชย์ 2-3 แห่งที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เป็นไปด้วยความราบรื่น คาดว่าจะเริ่มปลายเดือน ก.ย.-ต้นเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นเฟสที่ 2 จะนำมาใช้ในการปล่อยสินเชื่อบุคคลผ่านดิจิทัล (Digital Lending) ต่อไป

ธนาคารกรุงเทพมีฐานลูกค้าเงินฝาก 17 ล้านบัญชี เมื่อให้เปิดบัญชีผ่าน ช่องทางดิจิทัล คาดว่าจะได้ฐานลูกค้าใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกหลักหลายหมื่นคน ซึ่งอาจจะเพิ่มช้าในช่วงแรก เนื่องจากกลุ่มที่เข้ามาจะเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับการใช้ดิจิทัลอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มอื่นธนาคารจะต้องให้ความรู้ต่อไป

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรีคอนซูมเมอร์ และผู้บริหาร สายงานดิจิทัลและนวัตกรรมของธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ดิจิทัลไอดีในเฟสแรกจะมีการให้บริการร่วมกัน 5-6 ธนาคารใหญ่ รวมธนาคารกรุงศรีอยุธยาด้วย เพื่อเปิดบัญชีและปล่อยสินเชื่อ ผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น ซึ่งคาดว่าเริ่มใช้งานได้เดือน ต.ค.-พ.ย.นี้

สำหรับธนาคารกรุงศรีได้ทดสอบอี-เควายซี ประเภทยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า อยู่ในแซนด์บ็อกซ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยขณะนี้ทดสอบจนมั่นใจในการยืนยันตัวตนข้ามธนาคาร และเตรียมนำไปให้บริการลูกค้าบน กรุงศรีโมบายแอพในช่วงเดือน ต.ค.นี้ ส่วนยูชูสเป็นของบริษัทลูกของกรุงศรีคอนซูมเมอร์ จะอยู่ในเฟสที่ 3 ที่จะใช้ดิจิทัลไอดี

"การทดสอบเทคโนโลยีเพื่อใช้ เวอริฟายตัวตนจากใบหน้า Face Recognition เดิมขลุกขลักเล็กน้อย แต่ขณะนี้ทดสอบจนมั่นใจแล้วพร้อมจะนำไปใช้ แม้ว่าอยู่ภายใต้แซนด์บ็อกซ์ แต่ธปท.ไม่ได้ปิดกั้นการใช้งาน หากทดสอบการใช้เทคโนโลยีทุกด้านแล้วผลลัพธ์ไม่มีปัญหา สามารถเปิดให้บริการแก่ลูกค้าได้เช่นกัน" ฐากร กล่าว

สำหรับการยืนยันตัวตนข้ามองค์กร (Cross Verification) ยังอยู่ในกระบวนการทดสอบอยู่ การยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าจะต้องมั่นใจว่าเป็นภาพสด (Live) ไม่ใช่แค่รูปถ่าย ส่วนการเตรียมการด้านข้อมูลพื้นฐานของธนาคารเพื่อเปรียบเทียบนั้น ต้องอัพเดทข้อมูลของลูกค้า หากลูกค้าเดินทางไปทำธุรกรรมสาขาอาจขอเก็บข้อมูลใหม่ เช่น ขอถ่ายภาพ อัพเดทบัตรประชาชน โดยยืนยันว่าระบบธนาคาร มีการดูแลรักษาความปลอดภัยข้อมูล ที่เข้มงวดเช่นเดิม

การใช้ประโยชน์ดิจิทัลไอดีถูกพูดถึงแค่การเปิดบัญชีธนาคารหรือการปล่อย สินเชื่อ ซึ่งถ้าประโยชน์มีแค่นี้คงไม่ต้องลงทุนมหาศาล แต่เพราะประโยชน์มหาศาลจึงควรค่าที่จะลงทุน

ในเฟสแรกภาคการเงินได้ใช้ก่อน ได้แก่ ธนาคาร บล. บลจ. และประกัน ส่วนระยะยาวจะขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่นที่จะเข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นเจ้าของ ผู้เก็บข้อมูลที่เชื่อถือได้ (Trusted Source) ที่สนใจจะเพิ่มเติมเข้ามา เช่น กรมการขนส่งทางบก สำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร

ความฝันใครบางคน เช่น สามารถขอประวัติรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลหนึ่งไปที่โรงพยาบาลใหม่ได้ หรือขอวีซ่าด้วยการส่งข้อมูลผ่านอิเล็กทรอนิกส์ อาจไม่ไกลเกินจริง