posttoday

ออมสิน ปรับทัพ รุกธุรกิจใหม่ สู้ศึกดิจิทัล

13 กันยายน 2561

"ชาติชาย" เผย เป้าหมาย การทำงานของธนาคารออมสินจากนี้ ต้องการทำยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็น แผน 5 ปี โดยตั้งเป้าหมายให้มี 3 ธนาคารอยู่ในธนาคารเดียว

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

ล่าสุดคณะกรรมการธนาคารออมสินมีมติให้ต่อสัญญาจ้างงานผู้อำนวยการธนาคารออมสินของ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ออกไปอีกวาระหนึ่งเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 14 มิ.ย. 2563 เพื่อสานต่อการพัฒนาธนาคารออมสินรองรับนโยบายเศรษฐกิจฐานราก

ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงเป้าหมายการทำงานของธนาคารออมสินจากนี้ว่า ต้องการทำยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นแผน 5 ปี โดยตั้งเป้าหมายให้มี 3 ธนาคารอยู่ในธนาคารเดียวคือ 1.การเป็นธนาคารดั้งเดิมที่ทำหน้าที่ในการรับฝาก ถอนเงิน ตามหน้าที่ของธนาคารทั่วไป 2.การมุ่งสู่การเป็นธนาคารดิจิทัล และ 3.การเป็นธนาคารเพื่อสังคม

ทั้งนี้ ธนาคารยังเน้นเพิ่มการให้บริการลูกค้าเหมือนธนาคารทั่วไป และพยายามพัฒนาเรื่องระบบให้เป็นดิจิทัลแบงก์กิ้ง มีโปรดักส์ใหม่ๆ เช่น สตาร์ทอัพ  และอี-มาร์เก็ตเพลส ที่เตรียมจะเปิดตัวในไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อเป็นช่องทางการขายสินค้าให้กับชุมชนไปถึงมือผู้ซื้อ ธนาคารก็มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอน ผู้วางระบบก็มีรายได้จากการโฆษณาถือว่า วินๆ กันทุกฝ่าย

สำหรับเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเรื่อง พ.ร.บ.การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ทางธนาคารก็พร้อมรองรับเรื่องนี้ มีสาขาต้นแบบ 6 สาขาที่ทำธุรกรรมรองรับตัวตนผ่านดิจิทัล เช่น การเปิดบัญชีผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ใช้วิธีการสแกนม่านตาได้ ซึ่งปัจจุบันธนาคารสามารถทำรายการเบิกเงินผ่านระบบเอทีเอ็มด้วยการสแกนลายนิ้วมือได้แล้ว แต่กรณีที่จะให้มีการทำธุรกรรมพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัลอย่างแพร่หลายในทุกสาขาอาจยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบอีกระยะหนึ่ง 

การพัฒนาเป็นดิจิทัลแบงก์ จะทำให้มีพนักงานส่วนหนึ่งที่เหลือเพราะมีงานน้อยลง ธนาคารจะไม่มีการปลดพนักงาน แต่จะดึงคนเหล่านี้ มาทำเรื่อง ธนาคารเพื่อสังคมเพื่อรองรับนโยบายรัฐบาล เช่น การเป็นธนาคารผู้สูงวัย ธนาคารเด็ก การทำเรื่องแก้หนี้นอกระบบ ถือเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาและรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืน

สิ่งที่คิดมาทั้งหมดจะทำให้เห็นภาพว่า ในหนึ่งธนาคารที่มี 3 ภารกิจ จะมีภารกิจที่ทำแล้วขาดทุน เสี่ยง ไม่ค่อยมีกำไร เพราะเป็นการพัฒนา ขณะที่อีกฟากหนึ่งการเป็นธนาคารที่มีการบริการที่ทันสมัยรองรับความต้องการลูกค้าได้จะทำให้ธนาคารมีรายได้มีเสริมในส่วนขาดไปได้

ชาติชาย กล่าวต่อว่า อนาคตทุกแบงก์จะค่อยหายไปหรือเล็กลง เพราะฉะนั้นแบงก์จะต้องสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งอาจจะเป็น ฟินเทค (Fintech)  นวัตกรรมใหม่ (New Technology) ซึ่งธนาคารออมสิน ก็ได้เตรียมเริ่มในเรื่องนี้รองรับไว้แล้ว

การบริหารงานในอนาคตจะต้องโฟกัสที่ 2 เรื่องใหญ่ คือ การลดต้นทุน และการหารายได้ โดยในเรื่องของการลดต้นทุน ก็เป็นไปตามที่ผู้ควบคุมนโยบายจะพยายามดูแลผู้บริโภคให้มากขึ้น ด้วยการนำดิจิทัลมาใช้ เพราะต้นทุนดิจิทัล 1 ธุรกรรมอาจจะไม่ถึง 1 บาท แต่การทำธุรกรรมที่สาขาหรือที่เคาน์เตอร์ธนาคารอาจมีต้นทุนถึง 18 บาท จึงทำให้ดิจิทัลเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภค ดังนั้นการหารายได้ของธนาคารในอนาคตจะต้องเชื่อมโยงธุรกิจใหม่ๆ ให้มากขึ้น อย่างเช่นเรื่อง อี-มาร์เก็ต ที่กำลังจะทำเร็วๆ นี้

และในอนาคต ธนาคารออมสิน จะพยายามหาแนวทางการทำธุรกิจใหม่ เช่น การประสานความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจด้วยกัน เช่น การเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยว เนื่องจากธนาคารมีสาขาอยู่มากมายทุกจังหวัดสามารถดึงข้อมูลการท่องเที่ยวมารวมกันได้ และใครที่ต้องการข้อมูลการท่องเที่ยวก็สามารถเข้ามาใช้บริการจากธนาคารได้ฟรี โดยที่ธนาคารอาจมีการทำข้อตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำโครงการที่ต่อเนื่องซึ่งยังไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียดในขณะนี้

รวมถึงการทำแบงก์กิ้งเอเจนท์ ที่ให้บริการรับฝากถอนเงินและชำระเงินค่าบริการต่างๆ ได้ ซึ่งล่าสุดนี้ได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.แล้ว ให้สามารถทำเรื่องนี้ได้ต่อ จากที่มีแบงก์กิ้งเอเจนท์อยู่แล้ว 400 แห่ง ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มให้เป็น 600-800 ภายในปีนี้

ถือเป็นทิศทางการปรับตัวของยักษ์ใหญ่ในวงการแบงก์รัฐ ที่เตรียมหาธุรกิจใหม่ (New Business) เพื่อรับมือกับยุคดิจิทัล ที่กำลังจะมาถึงอย่างเต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้