posttoday

ไทยไม่หวั่นวิกฤตค่าเงินลาม 'อภิศักดิ์'มั่นใจพื้นฐานเศรษฐกิจดี

08 กันยายน 2561

คลังมั่นใจค่าเงินตลาดเกิดใหม่ผันผวน ไม่กระทบเศรษฐกิจไทย เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจดี หนี้ต่างประเทศต่ำแค่ 4%

คลังมั่นใจค่าเงินตลาดเกิดใหม่ผันผวน ไม่กระทบเศรษฐกิจไทย เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจดี หนี้ต่างประเทศต่ำแค่ 4%

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ปัญหาความผันผวนค่าเงินของอินโดนีเซียยังไม่กระทบกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากฐานะการคลังของประเทศเข้มแข็งมาก ที่ผ่านมาจะเห็นว่าประเทศที่เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศค่าเงินอ่อนค่าลง แต่ค่าเงินบาทของไทยทรงตัวและแข็งค่าขึ้นในบางครั้ง เพราะฉะนั้นผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจไทยจึงไม่น่ามี

อย่างไรก็ตาม การเกิดความผันผวนค่าเงินในตลาดโลกมีผลกระทบจะทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ดี เป็นการเริ่มต้นคล้ายวิกฤตต้มยำกุ้งของประเทศไทยเมื่อปี 2540 ที่หลายฝ่ายมองว่าปัญหาเริ่มต้นจากประเทศเล็กๆ แต่หลังจากนั้นปัญหาก็ขยายตัวไปทั่วโลก ประเทศที่ฐานะดีไม่ได้รับผลกระทบ ประเทศที่ฐานะไม่ดีก็ได้รับผลกระทบรุนแรง

ดังนั้น ผลกระทบจากค่าเงินประเทศอินโดนีเซีย จึงไม่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมาก เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจยังดี และรัฐบาลก็ได้เตรียมการรับมือกับปัญหาความผันผวนของเศรษฐกิจพอสมควร ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ของประเทศ ในส่วนของหนี้เงินกู้ต่างประเทศอยู่ระดับต่ำเพียง 4% ของหนี้เงินกู้ทั้งหมด ให้มาถอนคืนไปทั้งหมดก็ไม่ได้เกิดปัญหาแต่อย่างไร

"ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งและยังมีเงินทุนไหลเข้าแทนที่จะไหลออก อย่างไรก็ตามภายในหน่วยงานด้านเศรษฐกิจมีการหารือติดตามปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องที่เปิดเผยไม่ได้" นายอภิศักดิ์ กล่าว

ด้านธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ประเมินว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินยังต้องจับตาประเด็นสงครามการค้าสหรัฐกับจีนเป็นประเด็นหลัก ขณะที่รัฐบาลสหรัฐจะมีการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน ส.ค. 2561 ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.70-33.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าตลาดการเงินให้ความสนใจไปที่การทำประชาพิจารณ์จากภาคส่วนต่างๆ ของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีและค้าปลีก โดยประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะใช้ผลการทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยในการตัดสินใจว่าจะออกมาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก 2 แสนล้านดอลลาร์หรือไม่

ขณะเดียวกัน ยังคงต้องติดตามการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและแคนาดาที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 ก.ย.นี้ ด้านตัวเลขและดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจที่จะประกาศออกมา โดยเฉพาะตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. ก็เป็นสิ่งที่จับตามอง

"ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตามทิศทางค่าเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับสงครามการค้า ซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียนั้นอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 20 ปี เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียนั้นน้อยอยู่แล้วจากการที่อินโดนีเซียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงต่อเนื่อง มีหนี้ต่างประเทศสูงเมื่อเทียบกับทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ อีกทั้งตลาดตราสารหนี้ของอินโดนีเซียก็มีสัดส่วนการถือครองของนักลงทุนต่างประเทศสูง

ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่จะมีไหลออกของเงินทุนได้มากจากการคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างเช่น สงครามการค้า หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นต้น ในส่วนของเงินบาทก็อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน เนื่องจากความวิตกว่าสหรัฐอาจจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์