posttoday

สลาก90ล้านฉบับ แก้หวยแพงไม่ตก

07 กันยายน 2561

มาตรการเพิ่มสลากเพื่อหวังดัดหลังพ่อค้า แม่ค้าได้ทำควบคู่มาตรการอื่น แต่ผลที่ออกมาคือ “วันนี้ราคาสลากไม่ได้ถูกลง”

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สั่งเพิ่มสลากงวดวันที่ 1 ก.ย. มากเป็นประวัติศาสตร์ถึง 90 ล้านฉบับ เพิ่มจากงวดก่อนอยู่ที่ 88 ล้านฉบับ เป็นโควตาจัดสรรให้ผู้จองซื้อผ่านตู้เอทีเอ็มและแอพพลิเคชั่นธนาคารกรุงไทยเพิ่มเป็น 60 ล้านฉบับ ขณะที่การจัดสรรให้ตัวแทนจำหน่ายผ่านระบบโควตาพวก สมาคม มูลนิธิต่างๆ ยังเท่าเดิมที่ 30 ล้านใบ

จะเห็นว่าในห้วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ คณะกรรมการสลากมีการสั่งพิมพ์สลากเพิ่มมาโดยตลอด โดยงวดวันที่ 30 ธ.ค. 2559 มีสลาก 65 ล้านฉบับ ในงวดวันที่ 16 ก.พ. 2560 เพิ่มสลากเป็น 71 ล้านฉบับ และเพิ่มเป็น 87 ล้านฉบับ ในงวดวันที่ 1 ส.ค. 2561 จนล่าสุดงวดวันที่ 1 ก.ย. 2561 เพิ่มเป็น 90 ล้านฉบับ

มาตรการเพิ่มสลากเพื่อหวังดัดหลังพ่อค้า แม่ค้าได้ทำควบคู่มาตรการอื่น เช่น โครงการซื้อจองสลากล่วงหน้า เป้าหมายคือ การกระจายสลากกว่า 70% ถึงมือผู้ค้ารายย่อยทั่วประเทศ การออกสลากจากใบคู่เป็นใบเดียว การร่นวันรับสลากให้เหลือวันขายสลากน้อยลง

แต่ผลที่ออกมาคือ “วันนี้ราคาสลากไม่ได้ถูกลง” ซึ่งราคาขายปลีกที่ประชาชนต้องซื้อจากพ่อค้า แม่ค้ารายย่อย ยังอยู่ที่ 90 บาท หรืออาจแพงถึง 100 บาท ถ้าเป็นเลขดัง

ปัญหาที่ตามมาจากการออกสลาก 90 ล้านฉบับต่องวด คือ สลากชุด หรือหวยชุด ที่ออกมามากมายมีทุกแผงสลาก เพิ่มปริมาณตามจำนวนโควตาที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้พ่อค้า แม่ค้า ยี่ปั๊ว พวกเสือนอนกินโควตาสลากหวานปาก จัดชุดกันได้ง่ายมากขึ้น

 สะท้อนจากข่าวใหญ่ข่าวดัง พ่อค้าหวยคนซื่อ ธนวรรธน์ คำแหงพล หรือพีท อายุ 35 ปี ชาว จ.เลย พ่อค้าขายลอตเตอรี่ในปั๊มน้ำมัน ปตท. สาขาถนนเอกชัย  อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่ขายลอตเตอรี่ชุด 15 ใบ ให้ลูกค้าที่ซื้อทางไลน์แล้วถูกรางวัลใหญ่ 90 ล้าน ซึ่ง ธนวรรธน์ เล่าว่า งวดนี้ได้หวยชุด 15 ใบ มาประมาณ 150 ชุด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจ และน่าสนใจมากกว่า มาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคาของสำนักงานสลากฯ ทำมาถูกทางแล้วหรือไม่ หรือยิ่งเพิ่มปัญหาสลากรวมชุดให้รุนแรงมากขึ้น???

 ก่อนหน้านี้ สำนักงานสลากฯ อ้างว่าการเพิ่มปริมาณสลาก ที่ทำควบคู่ไปกับการเลื่อนวันจ่ายสลากช้าไป 2 วัน ทำให้เหลือเวลารวมชุดน้อยลง แต่ได้เคยมีการวัดผลว่า สภาพตลาดเป็นอย่างไร และระดับไหนที่จะไม่เรียกว่า “มอมเมาประชาชน” ซึ่งกระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นผู้กำกับสำนักงานสลากฯ ไม่เคยออกมาแสดงทัศนะในเรื่องนี้

หรืออาจเป็นเพราะประธานสลากฯ ไม่ใช่ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง จึงทำให้การบริหารจัดการของสลาก เหมือนจะหลุดวงโคจรการกำกับจากกระทรวงการคลังไปโดยปริยาย

ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า การซื้อสลากไม่ได้ช่วยชาติ การที่รัฐบาลพิมพ์สลากเพิ่มเท่ากับเป็นการดูดซับสภาพคล่องจากภาคครัวเรือน เพราะแทนที่ประชาชนจะมีเงินจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น กลับนำเงินไปซื้อสลาก ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจน้อยมาก มีเพียงผู้ขายสลากจำนวนหลักหมื่นคนเท่านั้นที่มีรายได้เพิ่ม ขณะที่ภาคครัวเรือนที่เป็นคนส่วนมากกลับถูกกระตุ้นให้นำเงินไปใช้กับการเสี่ยงโชค

 ด้านผลสำรวจของ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยนิยมซื้อสลากกินแบ่งถึง 21 ล้านคน เฉลี่ยแล้ว 1 คนจะซื้อสลากคนละ 4 ใบ เป็นคำถามที่น่าสนใจว่าต้องพิมพ์สลากมากแค่ไหนถึงเรียกว่าเหมาะสม

การพิมพ์สลากออกมากๆ ทำให้เกิดพ่อค้า แม่ค้าสลากเพิ่มขึ้นจำนวนมากทุกซอกทุกมุมก็ปั่นจักรยานไปขายได้หมด ไม่ว่าจะตลาด ปั๊มน้ำมัน หน้าร้านสะดวกซื้อ ข้างโรงเรียน ในร้านอาหารแบบนี้ กระตุ้นการรับรู้ของเยาวชนให้เกิดนักพนันหน้าใหม่หรือไม่

ล่าสุด เครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลากยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ทบทวนการเพิ่มจำนวนสลาก 90 ล้านฉบับ จากเดิม 37 ล้านฉบับ ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ตามนโยบายลดปัญหาการพนันในสังคมไทย

ทำให้รัฐต้องชั่งน้ำหนักระหว่างรายได้ของสำนักงานสลากฯ กับเรื่องของการมอมเมาประชาชน เพราะในส่วนรายได้สำนักงานสลากฯ ครองแชมป์อันดับ 1 ในปีงบ 2560 ส่งรายได้มากกว่า 3.09 หมื่นล้านบาท และกำลังจะคว้าแชมป์เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันเพราะยอดนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจ 10 เดือนแรกปีงบ 2561 สำนักงานสลากฯ ก็สูงที่สุด เพราะเป็นธุรกิจผูกขาดไร้คู่แข่ง มียอดขายต่อเดือนตอนนี้เพิ่มเป็น 90 ล้านฉบับต่องวด หรือ 180 ล้านฉบับต่องวดแล้ว

 ทั้งนี้ หากยกตัวอย่างกรณีที่มีการออกสลากที่ 90 ล้านฉบับ/งวดเป็นเวลา 1 ปี จะทำให้ยอดขายสลากจะมีวงเงินมากมายมหาศาลถึง 1.5 แสนล้านบาท/ปี แยกเป็นต้นทุนขายให้รายย่อยที่ 70.40 บาท/ฉบับ ซึ่งมีโควตา 60 ล้านฉบับเท่ากับ 4,224 ล้านบาท/งวด กับต้นทุนที่ขายขององค์กร มูลนิธิที่ 68.80 บาท/ฉบับ ซึ่งมีโควตา 30 ล้านฉบับ คิดเป็นยอดขายที่ 2,064 ล้านบาท/งวด รวมโควตาทั้งหมดจะเป็นเงิน 6,288 ล้านบาท/งวด หรือเท่ากับ 1.25 หมื่นล้านบาท/เดือน ซึ่งจะเท่ากับ 1.5 แสนล้านบาท/ปี  ซึ่งในจำนวนนี้ หักส่วนแบ่งรางวัล 60% หักส่วนลดผู้ค้าสลาก ค่าบริหารของสำนักงานสลากฯ จะเหลือเป็นเงินรายได้นำส่งไม่น้อยกว่า 20% คิดเป็นรายได้ที่ต้องนำส่งไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท/ปี

 ขณะที่ภาพขายสลากเกินราคาเฉลี่ยที่ 90 บาท/ฉบับ วงโคจรนี้มีใครได้ผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาที่ให้ขาย 80 บาท แล้วขายกันเกินราคาไป 90-100 บาท หรือมีส่วนต่างราว 20 บาท/ฉบับ ก็จะมีเงินที่เครือข่ายธุรกิจสลากเกินราคา ตกงวดละ 1,800 ล้านบาท หรือมากถึง 4.32 หมื่นล้านบาท/ปี ข่าววงในรู้ดีว่ามีใครได้โควตาครั้งนี้บ้าง มีเสือตัวเก่าที่อ่อนแรงแล้วผ่องถ่ายขุมอำนาจไปอีกรุ่น มีเสือตัวใหม่ และเสือตัวใหญ่ ที่ได้รับประโยชน์จากวงจรสลาก ปัญหาสลากเกินราคาที่แก้ไม่ตก หรือทำให้ดูเหมือนแก้ไม่ตกหรือไม่

 เป็นคำถามที่น่าสนใจว่า รัฐบาลปัจจุบัน และคณะกรรมการสลากฯ ที่มี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในปัจจุบัน จะไฟเขียวให้มีการออกสลากมากมายเป็นผลงานชิ้นสำคัญหรือไม่ เพราะยอดขายตอนนี้น่าจะแซงหวย 2 และ 3 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปแล้ว และปัญหาสลากเกินราคายังแก้ไม่ตก ถือเป็นสิ่งที่สังคมต้องจับตาดูต่อไปว่า รัฐบาลและสำนักงานสลากฯ จะหาจุดสมดุลที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาสลากไม่ถูกที่ถูกทางได้อย่างไร