posttoday

หยั่งรากความรู้การเงิน เด็กประถมวัยสร้างสังคมเข้มแข็ง

01 กันยายน 2561

กระทรวงศึกษาธิการนำร่องรับหลักสูตร ชะชิ้ง ของ พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชั่น เพิ่มทักษะพื้นฐานการจัดการเงินให้เด็กประถมวัยอายุ 6-12 ปี เป็นครั้งแรก เน้นสร้างสังคมเข้มแข็ง ลดวิกฤตการเงินในครอบครัว

โดย...วารุณี อินวันนา 

กระทรวงศึกษาธิการนำร่องรับหลักสูตร ชะชิ้ง ของ พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชั่น เพิ่มทักษะพื้นฐานการจัดการเงินให้เด็กประถมวัยอายุ 6-12 ปี เป็นครั้งแรก เน้นสร้างสังคมเข้มแข็ง ลดวิกฤตการเงินในครอบครัว

วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้เหตุผลที่ ยอมรับหลักสูตร ชะชิ้ง เข้ามาทดลองสอนเด็กระดับประถม เพราะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและองค์การสหประชาชาติ ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนมีคุณภาพชีวิต การบริหารจัดการด้านการเงิน เป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งในการที่จะดำรงชีวิตให้มีคุณภาพในโลกปัจจุบัน และเป็นการจัดการด้านการศึกษาที่ยั่งยืน ซึ่งทักษะความรู้ด้านการบริหารการเงิน 4 ด้าน คือ การหารายได้ การเก็บออม การใช้จ่าย และการแบ่งปัน เป็นความรู้ที่เด็กๆ สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และยังเป็นการปูพื้นฐานให้เป็นผู้ที่มีวินัยทางการเงินในอนาคต

นอกจากนี้ หลักสูตรดังกล่าวยังยืนยันความสำเร็จ เห็นได้จากประเทศต่างๆ ซึ่งในไทยจะมีการเตรียมครู 600 คน ให้มีความรู้ด้านการเงินเพื่อสอนเด็กนักเรียน โดยปีแรกจะสามารถเข้าถึงเด็กนักเรียนได้กว่า 2.4 หมื่นคน

ทางกระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าความรู้ทางด้านการเงินเป็นทักษะที่ทันสมัยสอดคล้องกับโลกปัจจุบันและในอนาคต

“อดีตเรื่องการเงินอยู่ในสังคมศึกษาที่แทรกอยู่ในวิชาเศรษฐศาสตร์แต่ไม่มาก และไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็กตั้งแต่ระดับประถม ซึ่งหลักสูตรนี้จัดเฉพาะเด็กประถม คิดว่าสามารถนำไปปรับใช้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ในอนาคตหากมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่องการเงินก็จะเข้าไปอยู่ในหลักสูตรด้วย” รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อธิบาย

ขณะที่ คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ประธานมูลนิธิจูเนียร์อะชีฟเม้นท์ ประเทศไทย ที่เข้ามาทำการอบรมครู กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางมูลนิธิจะเข้าไปให้ความรู้กับเยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยมใน 3 ด้าน คือ การพัฒนาให้เป็นเจ้าของธุรกิจ การให้ความรู้ด้านการเงิน และการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน เป็นความรู้ที่เสริมหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมูลนิธิจูเนียร์อะชีฟเม้นท์ระดับโลกมีการสอนทั้ง 3 เรื่องนี้ไปแล้วกว่า 10 ล้านคน ใน 100 แห่งทั่วโลก

การนำหลักสูตรชะชิ้ง ที่สอนเรื่องการเงินใน 4 ด้านให้กับเด็กประถมวัย ถือว่าเป็นครั้งแรก ซึ่งมีความชัดเจนในวิธีการเรียนการสอนที่จะทำให้เด็กเข้าใจได้ ซึ่งการอบรมหลักสูตรชะชิ้งให้กับครูเพื่อไปสอนเด็กทำไปแล้วที่ จ.นครราชสีมา และ จ.สงขลา ได้รับเสียงตอบรับที่ดี

ด้าน มาร์ค แฟนซี ผู้อำนวยการบริหาร พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชั่น กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ ได้ตั้งโครงการชะชิ้งขึ้นมาหลังจากเกิดวิกฤตการเงินเมื่อปี 2551 ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตการเงินขึ้นมาจากการขาดความเข้าใจด้านการจัดการเงิน ทำให้เกิดการใช้จ่ายเกินกำลัง เกินรายได้ ในฐานะที่กลุ่มพรูเด็นเชียลเป็นสถาบันการเงิน จึงเริ่มให้ความรู้ด้านการเงินผ่านการ์ตูนให้กับเด็กๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และปี 2560 ได้ทำเป็นหลักสูตรและร่วมกับทางหน่วยงานรัฐของแต่ละประเทศในการนำไปสอนเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีการนำไปใช้แล้ว ให้ความรู้แก่เด็กๆ กว่า 1 แสนคนในปีที่ผ่านมา และปีนี้ขยายสู่ประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชา

ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ เห็นว่า ความรู้เกี่ยวกับการบริหารและการจัดการเงินเป็นทักษะสำคัญที่ควรปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งการที่ครูต้องมาเรียนวิธีการสอนก็จะทำให้ครูเห็นและเข้าใจการจัดการด้านการเงินอย่างถูกต้อง เมื่อไปสอนเด็กทางเด็กก็จะมีการเชื่อมกับผู้ปกครองที่จะดึงดูดให้ผู้ปกครองต้องมาใส่ใจและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก เพราะต้องคอยดูแลการศึกษาของเด็ก จะเป็นการกระจายความรู้พื้นฐานทางการเงินให้กับสังคมในวงกว้างมากขึ้น

“เราไม่มีการสอนเรื่องประกัน แม้ทางกลุ่มพรูเด็นเชียลจะทำธุรกิจประกัน จะเน้นให้ความรู้พื้นฐานทางการเงินเท่านั้น เมื่อเด็กเข้าใจแล้วจะสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับตัวเองได้เมื่อเติบโตขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่ได้จะอยู่ที่สังคม อยู่ที่ประเทศ และทุกๆ คน” มาร์ค กล่าว


ธปท.จัด Fin ดี We can do

ปูพื้นฐานการเงินเด็กอาชีวะ

นวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายวางแผนและงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธปท.ได้จัดงานประกวดผลงานด้านความรู้ทางการเงิน โครงการ Fin ดี We can do ให้กับครูและนักศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษา โดยนำความรู้เชิงวิชาชีพมาประยุกต์ร่วมกับความรู้ทางการเงิน

โดยในปี 2561 มีเป้าหมายอบรมความรู้การเงินให้กับสถาบันอาชีวศึกษา  17  แห่ง  และปี 2561  ตั้งเป้าหมายอบรมให้ความรู้สถาบันอาชีวศึกษา 150 แห่ง

ทั้งนี้ พบว่าโดยกลุ่มเยาวชน Generation Y กลุ่มอาชีวศึกษาแผนกช่างที่อายุประมาณ 16-20 ปี ความรู้ทางการเงินยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงน้อยกว่าเยาวชนในกลุ่มที่ศึกษาด้านพาณิชย์ เนื่องจากมีการเรียนการสอนในเรื่องการเงินมากกว่า ซึ่งจะต้องปลูกฝังให้รู้จักยับยั้งใจตนเอง

สำหรับความรู้ทางการเงินที่สำคัญที่สุด ต้องรู้จักสภาพฐานะการเงินของตนเองในแต่ละวันทั้งรายได้และรายจ่าย มีการวางแผนทางการเงิน ด้วยการออมก่อนใช้บนพื้นฐานที่ 30% ของรายได้ แต่อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำได้ จึงควรแบ่งเงินออมตามความสามารถของตนเพื่อสร้างให้ติดเป็นนิสัย  นอกจากนี้ ยังต้องรู้จักการกู้ยืมเงิน เรื่องดอกเบี้ยทบต้น และการวางแผนชำระหนี้ รวมไปถึงการวางแผนในการศึกษาในอนาคตที่จะต้องมีรายจ่ายนอกเหนือจากค่าเรียน อย่างค่ากินอยู่และค่าเดินทางด้วย