posttoday

หนุนคุมเข้มเงินดิจิทัล

31 สิงหาคม 2561

ยูเอ็นแฉภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกิดไซเบอร์ไครม์ 6,000 ล้านครั้ง/ปี เศรษฐกิจเสียหาย 1.5 แสนล้าน หนุนไทยมีกฎหมายคุมเงินสกุลดิจิทัล

ยูเอ็นแฉภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกิดไซเบอร์ไครม์ 6,000 ล้านครั้ง/ปี เศรษฐกิจเสียหาย 1.5 แสนล้าน หนุนไทยมีกฎหมายคุมเงินสกุลดิจิทัล

นายจูเลียน กาซานี รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวในเวทีสัมมนาเรื่อง "ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจกับการต่อต้านอาชญากรรมในยุคดิจิทัล" ที่จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ที่โรงแรมอโนมา ว่า ที่ผ่านมาในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เกิดอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แล้วกว่า 6,000 ล้านครั้ง/ปี และสร้างความผลกระทบทางเศรษฐกิจ 1.5 แสนล้านบาท/ปี ทำให้กลุ่มอาชญากรข้ามชาติมีกำไร 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันตระหนัก ถึงภัยคุกคามของอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และต้องขัดขวางไม่ให้เกิดอาชญากร โดยต้องมีการผลักดันให้ไทยมีกฎหมายที่ควบคุมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลที่รุนแรงเพิ่มขึ้น

ขณะที่ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรม แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อปี 2560 ทีไอเจได้ร่วมกับสถาบันวิจัยอาชญากรรมและความยุติธรรมระหว่างภูมิภาคแห่งสหประชาชาติ ทำวิจัยและได้ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบและประเภทอาชญากรรมข้ามชาติในลักษณะองค์กรมีแนวโน้มสูงขึ้นในประเทศไทยคือ การปลอมแปลงเอกสารระบุตัวตนและหนังสือเดินทาง การฟอกเงิน การลักลอบขนยาเสพติด การค้ามนุษย์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการโจรกรรมข้อมูล บัตรเครดิต

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังได้ระบุข้อท้าทายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องเผชิญ ได้แก่ ข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรบุคคล การขาดประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารอย่างรวดเร็วระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ขาดความชำนาญภาษาต่างประเทศและความล่าช้าของระบบราชการ ซึ่งปัจจุบันไทยยังต้องการการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะอาชญากรรมประเภทที่มีการใช้เทคโนโลยีทางออนไลน์ แสวงหาผลประโยชน์ในการทำธุรกรรมคริปโทเคอเรนซี

"World Economic Forum ระบุเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้มากที่สุดในอีก 10 ปี ข้างหน้า มีเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรม ทางคอมพิวเตอร์รวมอยู่ด้วย ดังนั้นใน การประชุมสหประชาชาติที่จะมีขึ้นใน ปี ค.ศ. 2020 ที่ญี่ปุ่นจะมีการนำหัวข้ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์เป็นประเด็น สำคัญในการพูดคุยด้วย" นายกิตติพงษ์ กล่าว

ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันแม้จะมีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  แต่ยังมีขีดจำกัดเรื่องความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการดูแลเซิร์ฟเวอร์ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ รวมถึงสร้างเครือข่ายร่วมกันและเสาะแสวงหาสิ่งที่จะเป็นความเสี่ยงต่อไป