posttoday

ธกส.ใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันกู้ได้80%

29 สิงหาคม 2561

ธ.ก.ส.หนุนโครงการธนาคารต้นไม้ กระถิน สะเดา พะยูง ใช้เป็นหลักทรัพย์ยื่นกู้พ่วงที่ดินได้วงเงินเพิ่มอีก 30% ของมูลค่า

ธ.ก.ส.หนุนโครงการธนาคารต้นไม้ กระถิน สะเดา พะยูง ใช้เป็นหลักทรัพย์ยื่นกู้พ่วงที่ดินได้วงเงินเพิ่มอีก 30% ของมูลค่า

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เห็นชอบให้ขยายมูลค่าที่ดินและต้นไม้บนที่ดินมาใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันในการขอสินเชื่อกับธนาคารเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จะตีมูลค่าที่ดินเป็นหลักประกันเพียง 50% ให้มีการขยายเพิ่มได้ 80% ของมูลค่าที่ดินและต้นไม้ โดยให้นำมูลค่าของต้นไม้มาใช้เป็นส่วนควบหลักประกันเพิ่มได้อีก 30% หรือไม่เกินครึ่งหนึ่งของมูลค่าต้นไม้ เพื่อสนับสนุนโครงการธนาคารต้นไม้ของรัฐบาล และช่วยให้เกษตรกรเข้ามาขอสินเชื่อเพื่อนำไปใช้ทำการเกษตรหรือพัฒนาธุรกิจได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมี ผลแล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ได้กำหนดคุณสมบัติเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้ เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. เป็นเจ้าของที่ดินและต้นไม้ในคนเดียวกัน รวมทั้งต้องเป็นต้นไม้ตามที่ธนาคารกำหนด และใช้ได้เฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 6,804 ชุมชน เกษตรกร 1.5 แสนราย มีต้นไม้ในโครงการมากกว่า 11.7 ล้านต้น และมีการเริ่มทำโครงการนำร่องใน 2-3 สถาบันการเงินชุมชน ที่นำต้นไม้มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อแล้ว

สำหรับเกณฑ์การประเมินต้นไม้เป็นหลักประกันของธนาคารจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ไม้เนื้ออ่อน ต้นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วถึงปานกลาง รอบตัดฟันสั้น มูลค่า ของเนื้อไม้ต่ำ เช่น กระถิน สะเดา กลุ่มที่ 2 ไม้เนื้อปานกลาง ต้นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูงเช่น ยางนา ตะเคียนทอง กลุ่มที่ 3 ไม้สัก ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง และกลุ่มที่ 4 ไม้เนื้อแข็ง ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมากเช่น ไม้พะยูง ประดู่ป่า นอกจากนี้ยังมีการพิจารณามาตรฐานการเจริญเติบโตของต้นไม้ ความยาวของรอบวงต้น ที่ความสูงจากโคนต้น ตามหลักของคณะวนศาสตร์

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการและการพัฒนางานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนการนำงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ โดยมีการเผยแพร่องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเกษตรกร ชุมชน ภาคการเกษตร ผู้ประกอบการภาคการเกษตร และเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน