posttoday

งบอุ้มสูงวัยไม่พอ! เร่งเพิ่มรายได้ดันเงินออม

24 สิงหาคม 2561

กับดักสังคมสูงวัย เป็นหนึ่งในอุปสรรคของการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 และเป็นความท้าทายด้านเศรษฐกิจและการคลังที่สำคัญของประเทศ

โดย...วารุณี อินวันนา

กับดักสังคมสูงวัย เป็นหนึ่งในอุปสรรคของการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 และเป็นความท้าทายด้านเศรษฐกิจและการคลังที่สำคัญของประเทศ

พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวในหัวข้อ "สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และแนวโน้มที่ส่งผลต่อการวาง แผนเกษียณ" ว่า ในปี 2564 ไทยจะมีประชากรสูงวัย 20% ของประชากรทั้งหมดตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และปี 2574 จะเพิ่มเป็น 28% เป็นสังคม สูงวัยระดับสุดยอด สวนทางกับวัยเด็กและที่จะเข้าสู่วัยแรงงานลดลง จะกระทบเศรษฐกิจ ฐานะการคลัง

โจทย์คือ รัฐจะมีภาระในการต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนนอก งบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และนโยบายการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่ธุรกิจจะมีการผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่ไม่ใช่คน จะทำให้คนมีรายได้น้อยลง ต้องพึ่งพารัฐมากขึ้น แต่รัฐจะเก็บภาษีได้น้อยลงจากคนที่เข้าสู่วัยแรงงานลดลง การบริโภคลดลง คนเสียภาษีน้อยลงจากรายได้ที่ลดลง เพราะการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนแรงงานคน

"วันนี้พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง รัฐก่อหนี้ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีเพียง 41% ยังถือว่าต่ำ ฐานะการคลังมั่นคง แต่ถ้าไม่เตรียมพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัยฐานะการคลังก็แย่เหมือนกัน" พิสิทธิ์ กล่าว

พิสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการออกมาตรการช่วยเหลือผู้สูงอายุ และกระทรวงอื่นๆ  เข้ามาช่วยเหลือด้านต่างๆ แยกออกมาเป็น 5 ด้าน คือ 1.ด้านรายได้ เช่น การออกมาตรการภาษีช่วยเหลือผู้สูงอายุ 2.ด้านที่อยู่อาศัย เช่น สินเชื่อ ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งธนาคารออมสินดำเนินการแล้ว ข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา มียอดอนุมัติ สินเชื่อ 23 ราย เป็นวงเงิน 85 ล้านบาท

3.ด้านสุขภาพ เช่น การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ  ที่นอนติดเตียง  4.ด้านการประกอบอาชีพ ให้กับกลุ่มติดสังคมที่มีประมาณ 8.2 ล้านคน เช่น การจ้างงาน การให้สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ  และ 5.ด้านอื่นๆ เช่น กระทรวงคมนาคมเข้ามาช่วยเรื่องการลดหย่อนค่าโดยสาร กระทรวงมหาดไทยเข้ามาช่วยเรื่องการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ ขนส่งสาธารณะ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการบริจาค เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ถึงวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา มีผู้แจ้งบริจาคแล้ว 545 ราย มีเงินบริจาค 1.33 ล้านบาท ถือว่ายังน้อยเพราะตั้งเป้าไว้ว่าน่าจะมีคนสละสิทธิเบี้ยยังชีพประมาณ 5 แสนราย และโครงการเก็บเงินจากภาษีสรรพสามิต ซึ่ง ณ วันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา มียอดรวม 1,712 ล้านบาท

รวมถึงการจะให้ประชาชนออมเพิ่มด้วยการผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่ตอนนี้อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะบังคับให้พนักงานที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ต้องออมเข้า กบช.และนายจ้างก็ต้องออมด้วย

พิสิทธิ์ มองว่า มาตรการที่ทำมาทั้งหมด ก็ยังไม่พอ จะต้องมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก หนึ่งในนั้นคือการ เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งตอนนี้อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร และยังมี มาตรการอื่นๆ อีกที่วางไว้ เช่น กองทุนประกันสังคม ต้องขยายอายุเกษียณจาก 60 ปีไปเป็น 65  ปี เพิ่มเพดานเงินเดือนของการจ่ายเงินสมทบ ในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องหาแนวทางเพิ่มรายได้ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากเงินงบประมาณเพียงอย่างเดียว ทำงานร่วมกับกองทุนประกันสังคมในการซื้อยาเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง