posttoday

กสิกรไทยจุกอกหนี้เสียไหลย้อนกลับ

24 สิงหาคม 2561

ธนาคารกสิกรไทย เผยเอ็นพีแอลไม่ลดเหตุลูกค้าปรับโครงสร้างกลับมาเป็นหนี้เสียอีก ภาคเกษตรหนักสุด เบ่งสินเชื่อปลายปีให้ได้เป้า 4-6%

ธนาคารกสิกรไทย เผยเอ็นพีแอลไม่ลดเหตุลูกค้าปรับโครงสร้างกลับมาเป็นหนี้เสียอีก ภาคเกษตรหนักสุด เบ่งสินเชื่อปลายปีให้ได้เป้า 4-6%

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารพยายามคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สินเชื่อเอสเอ็มอีให้อยู่ 5% ซึ่งขณะนี้มีเอ็นพีแอลไหลเข้ามาอยู่จากลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ไปเมื่อ 3 ปีที่แล้วกลับมาเป็นเอ็นพีแอลอีก (รี-เอ็นทรี) เป็นกลุ่มที่ธนาคารพยายามเข้าไปช่วยอย่างต่อเนื่อง ส่วนเอ็นพีแอลจากกลุ่มสินเชื่อปล่อยใหม่นั้นมีน้อยมาก ทำให้ธนาคารสามารถรู้ขอบเขตในการควบคุมเอ็นพีแอลไม่ให้ขยายตัว

ทั้งนี้ กลุ่มที่ลูกค้าที่เป็นเอ็นพีแอลส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร อาทิ ธุรกิจรับซื้อสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบเมื่อราคาผันผวนในทิศทางตกต่ำ ทำให้ธุรกิจขาดทุน และขยายวงติดพันเป็นลูกโซ่ โดยธนาคารกสิกรไทยมีสินเชื่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าเกษตรเพียง 5% ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีรวมซึ่งอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท

สำหรับยอดคงค้างสินเชื่อเอสเอ็มอี 7 เดือนแรกเติบโต 1% แต่ไม่เปลี่ยนแปลง เป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้เติบโต 4-6% ซึ่งระหว่างนี้ต้องเพิ่มยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ให้สูงขึ้น จากเดิมต้องปล่อยเดือนละ 2.4 หมื่นล้านบาท แต่เพื่อให้ได้ถึงเป้าหมายจากนี้ต้องทำให้ได้เดือนละ 2.6-2.8 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี การขยายสินเชื่อจะมาจากการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้เน้นปล่อยสินเชื่อ ลูกค้าเก่าเป็นหลักเพื่อควบคุมความเสี่ยง แต่ขณะนี้แนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ทำ ให้เริ่มมั่นใจที่จะปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ารายใหม่

นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการปล่อยสินเชื่อ แบ่งเป็น แมชีนเลนดิ้ง เสนอสินเชื่อให้ลูกค้าผ่านโมบายแบงก์กิ้ง เคพลัส ซึ่งคาดว่าจะปล่อยได้ 6,000 ล้านบาท ในปีนี้ แต่ขณะนี้ยังปล่อยได้น้อยเพราะลูกค้าไม่ค่อยรู้ว่าธนาคารเสนอสินเชื่อให้

ทั้งนี้ ส่วนที่สองเป็นการปล่อย สินเชื่อโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อคาดการณ์ความต้องการสินเชื่อของลูกค้าเดิม ซึ่งส่วนนี้ได้รับการตอบรับดีมาก ลูกค้าเกิน 50% รับสินเชื่อที่เสนอให้ โดยปล่อยกู้ได้แล้วประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

สำหรับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงถึง 4.6% ในครึ่งปีแรก เป็นการเติบโตกระจุกอยู่ที่ธุรกิจรายใหญ่ ส่วนเอสเอ็มอี ในต่างจังหวัดยังไม่ได้รับประโยชน์เพราะ เอสเอ็มอีพึ่งพารายได้เกษตรกรเป็นสำคัญ เมื่อรายได้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากราคาพืชผลตกต่ำ จึงยังทำให้เอสเอ็มอียังชะลอตัวต่อไป

นายสุรัตน์ กล่าวว่า ได้ติดตามแนวโน้ม ดอกเบี้ยที่กำลังเป็นขาขึ้นในขณะนี้ แต่เบื้องต้นไม่กระทบกับธนาคารจนต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าขึ้น