posttoday

3กรมภาษีรายได้ต่ำเป้า

22 สิงหาคม 2561

โค้งสุดท้ายปีงบประมาณ 2561 รัฐวิสาหกิจแหล่งส่งรายได้ ดันจัดเก็บภาษีเกินเป้า แม้ 3 กรมภาษีมีรายได้ต่ำกว่าประมาณการ

โค้งสุดท้ายปีงบประมาณ 2561 รัฐวิสาหกิจแหล่งส่งรายได้ ดันจัดเก็บภาษีเกินเป้า แม้ 3 กรมภาษีมีรายได้ต่ำกว่าประมาณการ

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 สามารถเก็บได้จำนวน 2.02 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6.72 หมื่นล้านบาท หรือ 3.4% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 6.3% โดยมีสาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงาน อื่นสูงกว่าประมาณการ 2.52 หมื่นล้านบาท และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 2.52 หมื่นล้านบาท

"ปีงบประมาณ 2561 นี้ กระทรวงการคลังมีความมั่นใจว่าจะจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิได้ตามเป้าหมายที่วางไว้" น.ส.กุลยา กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเก็บรายได้ของกรมสรรพากรเก็บได้ 1.49 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,365 ล้านบาท เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1.92 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการชำระภาษีเงินได้ปิโตรเลียมย้อนหลัง และผลประกอบการของบริษัทขุดเจาะน้ำมันปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,405 ล้านบาท เนื่องจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของภาคเอกชนขยายตัวได้ดีกว่าที่ประมาณการไว้

ด้านกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้รวม 4.68 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,399 ล้านบาท โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีเบียร์ 1.25 หมื่นล้านบาท ภาษีน้ำมัน 7,825 ล้านบาท และภาษีสุรา 5,933 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 8,662 ล้านบาท และภาษียาสูบ 4,988 ล้านบาท

ขณะที่กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 9.01 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,470 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าประมาณการจำนวน 2,533 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการ นำเข้าสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ขยายตัวตามที่ประมาณการไว้

สำหรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อนุมัติกรอบวงเงิน 3 ล้านล้านบาท ตามที่รัฐบาลเสนอ เป็นงบประมาณขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 3.9-4.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากปีก่อน เมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1.23 แสนล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2.55 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 14.5% ของจีดีพี