posttoday

แบงก์-ธุรกิจเห็นพ้อง เงินสกุลท้องถิ่น "ถูกและดี"

21 สิงหาคม 2561

การใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะช่วยลดต้นทุนการแลกเปลี่ยนเงินหลายทอด และลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลหลัก

การใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะช่วยลดต้นทุนการแลกเปลี่ยนเงินหลายทอด และลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลหลัก

*******************************

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานสัมมนาการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นขึ้นในการทำธุรกรรมให้กว้างขวาง เพื่อเป็นทางเลือกนอกจากเงินสกุลหลัก ให้ผู้ประกอบการได้นำไปใช้ในการกำหนดราคาและชำระธุรกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน ธปท.มีความร่วมมือชำระเงินด้วยสกุลท้องถิ่น 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และจีน

จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. กล่าวว่า สงครามการค้าทำให้ตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนสูง ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือโดยใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ หนึ่งในทางเลือกคือ การชำระสินค้าด้วยเงินบาทหรือเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่ค้า ซึ่งอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของ ธปท. 2560-2562

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังชำระราคาด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักในสัดส่วนกว่า 80% ตัวอย่างการค้าไทย-จีน ในปี 2560 ใช้เงินดอลลาร์ถึง 92% ลดลงเทียบปี 2558 ที่มีสัดส่วน 95% ส่วนการใช้เงินหยวนปรับเพิ่มจาก 3% เป็น 6% แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนน้อยมาก

“ปัญหาของการใช้เงินดอลลาร์คือผันผวนสูงและต้นทุนสูง หากใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะช่วยลดต้นทุนการแลกเปลี่ยนเงินหลายทอด และลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลหลัก เพราะเงินในภูมิภาคเคลื่อนไหวสอดคล้องกัน” จันทวรรณ กล่าว

ตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การใช้เงินสกุลท้องถิ่นเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจหลายด้าน ทั้งหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากค่าเงินดอลลาร์ผันผวน และได้คู่ค้ามากขึ้นจากผู้ประกอบการขนาดเล็กในประเทศนั้นสะดวกรับเงินสกุลท้องถิ่นมากกว่า ซึ่งธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสถาบันการเงินตัวแทน (ACCD) ชำระเงินบาท-ริงกิต และบาท-รูเปียห์

อย่างไรก็ดี ความตกลงในปัจจุบันมีข้อจำกัดหลายด้านที่ไม่จูงใจ เช่น เสียดอกเบี้ยแพงในการเปิดแอลซี จึงอยากคิดดอกเบี้ยต่ำหากทำธุรกรรมผ่าน ACCD รวมทั้งเปิดให้ป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า (Hedge Future) ผ่านเงินสกุลท้องถิ่นได้ อีกทั้งขยายความร่วมมือใช้เงินสกุลท้องถิ่นให้ครบ 10 ประเทศ เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย

สอาด ธีรโรจนวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า หลังธนาคารได้รับการแต่งตั้งเป็น ACCD ในปี 2559 ก็ลองผิดลองถูก เช่น ในมาเลเซีย ทันทีที่เปิดเคาน์เตอร์ก็มีบุคคลธรรมดาเข้ามาโอนเงินริงกิต เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะขณะนั้นโอนได้แต่นิติบุคคล แต่ปี 2561 ได้เปิดให้บุคคลธรรมดาโอนได้แล้ว เห็นได้ว่าผ่อนคลายขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต่อไปธุรกรรมจะเป็นการโอนเพื่อลงทุน เช่น พันธบัตร ก็ต้องเรียนรู้ต่อไปเพราะเป็นเรื่องใหม่

สุธีร์ โล้วโสภณกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ก่อนมี ACCD มาเลเซียค่อนข้างเข้มงวดกับเงินที่อยู่นอกประเทศมาก แม้ระยะแรกของการผ่อนคลายให้ธนาคารพาณิชย์ไทยทำธุรกรรมริงกิต ก็ยังมีข้อจำกัดที่ธุรกรรมต้องได้รับอนุมัติก่อน แต่หลังจากธนาคารกลางสองประเทศพูดคุยหารือกันภายใต้สกีมใหม่ ACCD ทำให้สะดวกขึ้นมากพอๆ กับการใช้เงินดอลลาร์ ทั้งกู้ยืมเป็นริงกิตได้ เปิดแอลซีเป็นริงกิตได้ และป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้าได้โดยไม่ต้องนำแผนธุรกิจมาแสดง

ราเกส ซิงห์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนากลยุทธ์ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ กล่าวว่า บริษัทใช้วิธีกำหนดราคาซื้อขายด้วยเงินสกุลท้องถิ่นเป็นทางเลือกหลักในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพราะมีลูกค้าในหลายประเทศ ทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก ยูเค จะเปิดอินวอยซ์เป็นเงินบาท ทำให้รับรู้ยอดขายแน่นอน นอนหลับสบาย

ศรายุธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงิน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า มีธุรกิจต่างประเทศเกิน 50% ของธุรกิจทั้งหมด และตั้งฐานธุรกิจในหลายประเทศ เบื้องต้นได้เลือกใช้เงินสกุลท้องถิ่นในธุรกิจที่ลาวสอดคล้องกับรายรับรายจ่าย โดยเงินกีบให้ชาวไร่ ส่วนเงินบาทชำระให้คู่ค้าต่างๆ ส่วนธุรกิจในประเทศอื่นจะใช้ค่าเงินใดต้องพิจารณาโครงสร้างการเงินที่เหมาะสม

วัชเรนทร์ นิสากรเสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานขายและการตลาด บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) กล่าวว่า มีธุรกิจ 139 ประเทศทั่วโลก โดย 40% ใช้เงินดอลลาร์ อีก 20% ใช้เงินสกุลท้องถิ่น-ดอลลาร์ และอีก 20% ใช้เงินสกุลท้องถิ่น-บาท ซึ่งบริษัทพยายามบริหารจัดการรายรับ-จ่ายให้เป็นเงินสกุลท้องถิ่นเดียวกัน ประหยัดค่าใช้จ่ายแปลงค่าเงิน และต้นทุนไม่ผันผวนอีกด้วย