posttoday

ดันใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขาย

21 สิงหาคม 2561

ธปท. แนะลดใช้ดอลลาร์สหรัฐซื้อขายสินค้า หันมาใช้สกุลท้องถิ่น ถูกกว่า ตุนหยวนรองรับความตกลงใช้บาท-หยวนทั่วจีน

ธปท. แนะลดใช้ดอลลาร์สหรัฐซื้อขายสินค้า หันมาใช้สกุลท้องถิ่น ถูกกว่า ตุนหยวนรองรับความตกลงใช้บาท-หยวนทั่วจีน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศกำหนดราคาซื้อขายเป็นเงินสกุลท้องถิ่น เพื่อลดความผันผวนและลดต้นทุนจากการใช้สกุลกลางอย่างดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าการค้ากับสหรัฐสัดส่วน 9% ขณะที่การค้าในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออกมีสัดส่วนมากกว่า 50% แต่ ผู้ประกอบการกลับใช้เงินดอลลาร์ในการซื้อขายถึง 80% ของการค้าทั้งหมด

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาและระยะข้างหน้าความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนมาจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ทั้งธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางยุโรป ส่งผลให้ค่าเงินบาทเทียบกับประเทศหลักผันผวน แต่ค่าเงินภูมิภาคเคลื่อนไหวทางเดียวกัน  การเลือกใช้เงินสกุลท้องถิ่นจึงทำให้ต้นทุนจากส่วนต่าง (สเปรด) แคบลง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ

ล่าสุด ได้ขยายความร่วมมือกับจีนในการชำระราคาสกุลท้องถิ่นบาท-หยวน ซึ่งการเริ่มปี 2554 เป็นการจำกัดเฉพาะการใช้ในยูนนาน เพื่อส่งเสริมการค้าข้ามชายแดนไทย-จีน โดยในปีนี้ได้ทำข้อตกลงกับธนาคารกลางจีนใหม่ ให้มีการใช้สกุลท้องถิ่นขยายไปทั่วประเทศ ธนาคารกลางจีนทุกแห่งสามารถกำหนดราคาบาท-หยวนได้ ขณะเดียวกันธนาคารกลางไทยและจีนต้องเตรียมสภาพคล่องเงินบาทและหยวนเพื่อรองรับความต้องการอย่างเพียงพอ

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีความตกลงชำระราคาด้วยเงินสกุลท้องถิ่นแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ ริงกิตของมาเลเซีย รูเปียห์อินโดนีเซีย เยนญี่ปุ่น และเงินหยวนของจีน โดยริงกิตและรูเปียห์มีธนาคารพาณิชย์ไทย 8 แห่งเป็นตัวแทนให้บริการ

"สัดส่วนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นแทนการใช้ดอลลาร์ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้แรงมาก อย่างเงินบาทและหยวนเห็นการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากเดิมสัดส่วนอยู่ที่ 0.2-0.3% ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เลขตัวเดียวแล้ว แต่ภาพรวมการซื้อขายใช้ดอลลาร์เป็นหลักอยู่" นายวิรไท กล่าว

ทั้งนี้ ธปท.ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อชำระเงินข้ามประเทศกับเพื่อนบ้าน ทั้งลาว กัมพูชา เมียนมา เช่น ธนาคารพาณิชย์ไทยบางแห่งใช้คิวอาร์โค้ดสแตนดาร์ดเพื่อทำธุรกรรมข้ามพรมแดนแล้ว และพยายามส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น