posttoday

'ดีเอ็นเอ-แอพเพิล เวลธ์' แจงไม่เกี่ยวโกงบิตคอยน์

11 สิงหาคม 2561

ดีเอ็นเอ-แอพเพิล เวลธ์ ส่งหนังสือแจง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยืนยัน ไม่เกี่ยวโกงบิตคอยน์

ดีเอ็นเอ-แอพเพิล เวลธ์ ส่งหนังสือแจง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยืนยัน ไม่เกี่ยวโกงบิตคอยน์

ศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล กรรมการบริษัท ดีเอ็นเอ 2002 ส่งหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อชี้แจงกรณีที่มีข่าวตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการที่บริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล Dragon Coin นั้น บริษัทขอชี้แจงว่าทางบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล รวมทั้งกับการฟอกเงินหรือการฉ้อโกงใดๆ อย่างใดทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ทางกรรมการบริหารและคณะกรรมการบริษัททุกท่านเล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องนี้ และขอยืนยันว่าทางบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกประการ

นอกจากนี้ได้แจ้งว่าบริษัทได้ขายหุ้นทั้งหมดของบริษัท ไว เทค อินเตอร์เนชั่นแนล แล้วตั้งแต่วันที่ 20  มิ.ย. 2561 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2561 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2561 ดังนั้น ในปัจจุบันบริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาดังกล่าว กับทั้งธุรกิจปกติของบริษัทในปัจจุบันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจเงินดิจิทัลแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สอบถามมายังบริษัท ดีเอ็นเอ 2002 เกี่ยวกับ IT Service Agreement กับ Dragon Corporation (HK) Limited ซึ่งบริษัทได้เคยแจ้งความคืบหน้าเมื่อ วันที่ 30 เม.ย. 2561 นั้น บริษัทขอชี้แจงว่า IT Service Agreement กับ Dragon Corporation (HK) Limited เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง บริษัท ไว เทค อินเตอร์เนชั่นแนล  ซึ่งเคยเป็นบริษัทย่อยของบริษัทในอดีต กับ Dragon Corporation (HK) Limited

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แอพเพิล เวลธ์ ก็ได้ทำเอกสารข่าว ชี้แจงกรณีพัวพันกับคดีทุจริตบิตคอยต์ โดยระบุว่า วรากรณ์ กุนทีกาญจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์  เปิดเผยว่า เพื่อความชัดเจนและเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน กรณีที่มีข่าวเรื่องคดีทุจริตการลงทุนใน เงินสกุลดิจิทัล "Dragon Coin" นั้น ขอยืนยันว่าบริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับกรณีดังกล่าว

กรณีที่มีชื่อของ ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณซึ่งเคยเป็นอดีตประธานกรรมการบริหารของบริษัทนั้น ในปัจจุบันบุคคลดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัท โดยประสิทธิ์ไม่ได้เป็นกรรมการหรือมีอำนาจการบริหาร และไม่ได้เป็นพนักงานของ บล.แอพเพิล เวลธ์ แต่ประการใด

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนบุคคล บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และขอยืนยันว่าการดำเนินธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญและ ยึดมั่นในเรื่องของความโปร่งใส มี ธรรมาภิบาล สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ซึ่งมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว

รพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีการหลอกลวงโดยอ้างถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในหลายกรณี ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายของผู้ลงทุนในมูลค่าที่สูง จึงเป็นที่มาของการจัดทำ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดกรอบการกำกับดูแลให้ผู้ออกโทเคนดิจิทัลและผู้ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกได้

ทั้งนี้ หากประชาชนถูกชักชวนให้ลงทุนในไอซีโอ หรือซื้อโทเคนดิจิทัลในช่วงนี้ ขอให้ทราบว่าในปัจจุบันยังไม่มีผู้ออกไอซีโอรายใดได้รับการอนุญาต รวมทั้งยังไม่มีผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับการยอมรับจาก ก.ล.ต. ซึ่งในอนาคตเมื่อมีผู้ออกไอซีโอ หรือ ICO Portal ที่เป็นไปตามเกณฑ์แล้ว  ก.ล.ต. จะเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวบนเว็บไซต์ ก.ล.ต.ต่อไป

ส่วนกรณีที่ถูกชักชวนให้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยมีผู้แสดงตนเป็นตัวกลาง ไม่ว่าจะในฐานะศูนย์ซื้อขาย นายหน้า หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น  ก.ล.ต.ขอให้ผู้ลงทุนตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ติดต่อชักชวนบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. ก่อน ทั้งนี้ผู้ที่สามารถประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันได้ ต้องเป็นผู้ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ก่อนวันที่ 14 พ.ค. 2561 โดยหากมายื่นขออนุญาตภายในวันที่ 14 ส.ค. 2561 จะสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้จนกว่าจะถูกสั่งห้าม  ส่วนผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหม่จะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะเริ่มประกอบธุรกิจได้

หากพบว่าผู้ที่มาติดต่อชักชวนไม่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว ขอให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก และหากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถสอบถาม ก.ล.ต. ที่ โทร. 1207