posttoday

ออมสินปั้นเอสเอ็มอียุค4.0อัดเงินกู้กว่าแสนล.

09 สิงหาคม 2561

ออมสิน เร่งปั้นนักรบเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพ ทั้งปล่อยกู้และร่วมลงทุนสร้างเถ้าแก่น้อยไปแล้ว 4.24 หมื่นราย ทุ่มเงินกว่าแสน

ออมสิน เร่งปั้นนักรบเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพ  ทั้งปล่อยกู้และร่วมลงทุนสร้างเถ้าแก่น้อยไปแล้ว 4.24 หมื่นราย ทุ่มเงินกว่าแสนล้าน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยความคืบหน้าโครงการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพว่า ธนาคารได้สนับสนุนการให้สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2561 จำนวน 4.24 หมื่นราย วงเงินกู้ 1.23 แสนล้านบาท สินเชื่อเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพวงเงินกู้ 1-10 ล้านบาท จำนวน 949 ราย วงเงินกู้ 3,042 ล้านบาท ส่วนการจัดตั้งและร่วมลงทุนใน SMEs Private Equity Trust Fund จำนวน 3 กอง วงเงินลงทุนรวม 2,000 ล้านบาท โดยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมสนับสนุนผ่านการระดมทุนเสริมความแข็งแกร่งนั้น มีการร่วมอนุมัติลงทุนแล้ววงเงิน 361.2 ล้านบาท จ่ายเงินลงทุนไปแล้ว 195 ล้านบาท อยู่ระหว่างเจรจาและพิจารณา 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้จัดตั้งศูนย์ธุรกิจลูกค้าเอสเอ็มอี เป็นพี่เลี้ยงให้บริการได้ครบทั้ง 82 ศูนย์แล้วทั่วประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกในการอำนวยสินเชื่อให้แก่กลุ่มสตาร์ทอัพ

นายชาติชาย กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับกระบวนคิดและการปฏิบัติภายในธนาคาร มุ่งให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พร้อมทั้งเพิ่มกลุ่มลูกค้าธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐ ในโครงสร้างใหม่ดูแลกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ และยังมีโครงการสนับสนุนมากมาย ตั้งแต่เริ่มต้นจุดประกายความคิด ระดมสมอง ไปจนถึงการเป็นแหล่งทุน ผู้ร่วมลงทุน โดยมี โครงการประกวดแผนธุรกิจ GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยให้ความรู้ นิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ ด้านเอสเอ็มอี เพื่อให้มีนวัตกรรม ตลอดจนการให้สินเชื่อในวงเงินที่เหมาะสม และดอกเบี้ยต่ำ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมมือกับบริษัท Plug and Play บริษัทผู้พัฒนาและบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพระดับโลก ที่มีผลงานลงทุนในเทคสตาร์ทอัพชั้นนำ ทั้ง Paypal Dropbox และ Lending Club เพื่อร่วมค้นหา คัดสรรและพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมทั้งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านฟินเทค มาต่อยอดการขับเคลื่อนธุรกิจธนาคาร เพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารแห่งอนาคต (Future Banking) ตลอดจนพัฒนา ศักยภาพของบุคลากรให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ธนาคารได้รับภารกิจในการขับเคลื่อนนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล รวมถึงการสร้างสังคมไร้เงินสด และบ่มเพาะและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยในปีนี้ได้ทุ่มงบประมาณลงทุนด้านเทคโนโลยีกว่า 1 หมื่นล้านบาท