posttoday

Digital ID คืบหน้า ก.ย.เริ่มใช้เปิดบัญชี

03 สิงหาคม 2561

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (เนชั่นแนล ดิจิทัล ไอดี) คืบหน้าตามแผนเป็นอย่างดี ทั้งการวางแพลตฟอร์มใกล้สมบูรณ์ คาดว่าเดือน ก.ย.นี้จะเริ่มใช้งานได้

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

แม้ข่าวจะเงียบไปบ้าง แต่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (เนชั่นแนล ดิจิทัล ไอดี) ก็คืบหน้าตามแผนเป็นอย่างดี ทั้งการวางแพลตฟอร์มใกล้สมบูรณ์ คาดว่าเดือน ก.ย.นี้จะเริ่มใช้งานได้ ส่วนกฎหมายอยู่ระหว่างยกร่างและเปิดรับฟังความคิดเห็น ขณะที่หลักเกณฑ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังวางระเบียบอยู่

สำหรับการตั้งหน่วยงานขึ้นมา ดูแลแพลตฟอร์มของดิจิทัลไอดี ลงตัวแล้ว โดยบริษัท เนชั่นแนล ดิจิทัล ไอดี (NDID) จดทะเบียนเมื่อเดือน ก.พ. 2561 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ในชั้นแรก มีสมาคมธนาคารไทยถือหุ้น 42.5% สมาคมประกันภัย 10% สมาคมประกันชีวิต 10% สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ 10% สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (TEPA) 7.5% และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) 20%

ยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักระบบชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย ซึ่งเดิมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของบริษัท NDID แต่ลาออกเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. มาเป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษาของบริษัท กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัท ได้แต่งตั้ง จีระพงศ์ เลาห์ขจร เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท NDID มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยจีระพงศ์เคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) มีทั้งบู๊และบุ๋น ความเป็นผู้นำ รู้ทั้งด้านเทคนิค รวมถึงมีทักษะการสื่อสาร ซึ่งมีความจำเป็นในการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงองค์กรต่างๆ เข้ามาร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐาน Digital ID

"ก็เหมือนกับไอทีเอ็มเอ็กซ์ที่เชื่อมธนาคาร ส่วน NDID ก็เชื่อมองค์กร เช่น โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในแพลตฟอร์มนี้มี 3 โรล คือ Relying Party (RP) ผู้ขอข้อมูลเพื่อพิสูจน์ ตัวตน  Identify Party (IDP) เป็นผู้ตรวจสอบตัวตน และ Authoritative Source (AS) เจ้าของข้อมูล ซึ่งบางองค์กรจะเป็นมากกว่า 1 โรล ก็ได้ อาจเป็นทั้งผู้ยืนยันให้คนอื่น หรือเป็น ผู้ขอยืนยันตัวตนก็ได้" ยศ อธิบาย

สำหรับการตั้งเป็นบริษัท จากแนวคิดเดิมจะตั้งเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อให้บริหารจัดการองค์กรได้ง่าย ให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง อนาคตในระยะยาวคงหนีไม่พ้นต้องเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)

หน้าที่ NDID มีหลายส่วน แรกสุดคือต้องให้มั่นใจว่าสมาชิกทุกส่วนต้องมีระบบที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเป็นผู้กำหนดมาตรฐานการเป็นผู้ให้บริการทั้ง 3 โรล และมีการออดิทเพื่อให้มั่นใจว่ามาตรฐานไม่ตก ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่ 3 หรือทาง NDID ออดิทเอง

นอกจากนี้ มีการบริหารรายได้ จากค่าสมาชิกเพื่อเลี้ยงตัวเอง และ ค่าธรรมเนียมการใช้บริการตรวจสอบข้อมูล (Transaction fee) เล็กน้อยเพื่อ เลี้ยงตัวเองได้ ถ้าในอนาคตมีสมาชิกมากขึ้น มีรายได้ค่าธรรมเนียมสูงขึ้น องค์กรนี้จะเลี้ยงตัวเองได้

สำหรับสถาบันการเงินที่ต้องเป็นผู้ยืนยัน อาจต้องพิสูจน์ตัวตน (เควายซี) ลูกค้าเพิ่มเติม เพราะระดับการยืนยันตัวตน (Identification Assurance Level :IAL) เดิมอยู่ 2.1-2.2 แต่ภายใต้มาตรฐานดิจิทัล ไอดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องการให้ธนาคารมีฐานข้อมูลเควายซีเข้มข้นขึ้น เพื่อรองรับการนำ ไบโอเมตริกเข้ามาใช้ ให้มั่นใจมากขึ้น

ข้อมูลสำคัญที่ต้องการเก็บเพิ่ม คือ การไบโอเมตริก ที่ธนาคารอาจจูงใจวิธีการต่างๆ ให้ลูกค้าเข้าไปสาขาเพื่อให้ข้อมูลเพิ่ม เช่น การถ่ายรูป หรือถ่ายวิดีโอ แบบ live เพื่อใช้ในการ Face Recognition บนโมบายได้ เป็นต้น ระหว่างนี้ ในเรกูลาทอรี่แซนด์บ๊อกซ์ ของ ธปท. กำลัง ทดสอบวิธีการพิสูจน์ตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เควายซี) อย่างเข้มข้น

ทั้งนี้ เนชั่นแนล ดิจิทัลไอดี จะเริ่มใช้ได้จริงภายในปีนี้ โดยเบื้องต้นวางไทม์ไลน์ว่าจะไพลอทในเดือน  ก.ย.-ต.ค.นี้แน่นอน ในบริการเปิดบัญชีธนาคารผ่านช่องทางต่างๆ โดยไม่ต้องไปสาขา

"ส่วนตัวที่อยากเห็นจากดิจิทัล ไอดี คือ การขอข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลเดิม เวลาไปหาหมอที่โรงพยาบาลใหม่ อยากให้มีการขอได้ผ่านโมบายแบงก์กิ้งได้ และสองที่อยากเห็นเร็วๆ คือ การขอวีซ่าสถานทูต ที่ใช้เทคโนโลยีส่งเอกสาร แบงก์สเตตเมนต์ หรือใบเงินเดือน คิดว่าสถานทูตน่าจะเข้าร่วม" ยศ กล่าว

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิต บูโร) กล่าวว่า หุ้นที่เครดิตบูโรถือใน NDID 20% กำลังแบ่งขายให้ธนาคารรัฐไป 10%  เพราะมองว่า ไม่ควรมีสัดส่วนการถือหุ้นมากเกินไป อย่างสมาคมธนาคารไทยที่มี 42.5% นั้น ในทางปฏิบัติได้กระจายให้ธนาคารถือไม่เกิน 8%

"โดยมองว่า สัดส่วนที่เหมาะสมของการถือหุ้นแต่ละส่วนไม่ควรเกิน 7-8% เนื่องจาก ดิจิทัลไอดี เป็นโครงสร้าง พื้นฐาน เป็นบริษัทแห่งชาติ ไม่ต้องมีใครถือหุ้นใหญ่ แต่เปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามาใช้ได้ โดย อี-คอนเซนต์ ของเครดิตบูโร เป็นบริการแรกๆ ที่นำขึ้นแพลตฟอร์มนี้ สามารถรองรับการเปิดบัญชีเงินฝาก เปิดบัญชีสินเชื่อ และบริการทางการเงินอื่นๆ ที่จะตามมา" สุรพล กล่าว