posttoday

แบงก์รัฐหนี้เสียปูด4.29%

03 สิงหาคม 2561

คลังเผยผลดำเนินงานแบงก์รัฐ 5 เดือนแรก สินเชื่อ เงินฝากชะลอตัว ส่วนหนี้เสียขยับมาอยู่ที่ 2.41 แสนล้าน คิดเป็น 4.29%

คลังเผยผลดำเนินงานแบงก์รัฐ 5 เดือนแรก สินเชื่อ เงินฝากชะลอตัว ส่วนหนี้เสียขยับมาอยู่ที่ 2.41 แสนล้าน คิดเป็น 4.29%

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยผลดำเนินงานสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ 5 เดือนแรก 2561 ว่า ยอดสินเชื่อของทั้งระบบอยู่ที่ 4.61 ล้านล้านบาท ชะลอตัวลงเมื่อเทียบไตรมาสแรกของปีนี้ ที่มียอด สินเชื่อคงค้าง 4.63 ล้านล้านบาท ด้านเงินรับฝากอยู่ที่ 4.70 ล้านล้านบาท ชะลอตัวลงเมื่อเทียบจากไตรมาสแรกที่มียอดเงินฝากคงค้างที่ 4.75 ล้านล้านบาท

สำหรับกำไรสะสมทั้งระบบ 5 เดือนแรกอยู่ที่ 2.98 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 9,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่มีกำไร 2.06 หมื่นล้านบาท ด้านยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2.41 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.29% เพิ่มจากไตรมาสแรกที่มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.31 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.11%

ขณะที่ยอดสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ทั้งระบบอยู่ที่ 2.54 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.52% เพิ่มจากไตรมาสแรก ซึ่งอยู่ที่ 2.29 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.07% ของ สินเชื่อรวม ขณะที่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) อยู่ที่ 12.88% อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่มี บีไอเอสที่ 12.85%

ก่อนหน้านี้ธนาคารออมสินเปิดศูนย์ควบคุมและบริหารจัดการหนี้ 80 แห่ง เนื่องจากประเมินว่าจะมีหนี้เสียเพิ่ม 5.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 นี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า หนี้เสียในช่วงครึ่งปีแรกจะเพิ่มสูงขึ้น เช่น ลูกหนี้กลุ่มที่เข้าประนอมหนี้ในช่วงปลายปี มีบางกลุ่มที่หลุดเกณฑ์ก็จะกลายเป็นหนี้เสียในช่วงเดือน ก.พ-มี.ค.กับช่วงเดือน พ.ค.เป็นช่วงเปิดเทอม ลูกหนี้จะมีภาระค่าใช้จ่าย