posttoday

กยศ.เล็งขยายเวลาใช้หนี้ให้นานกว่า15ปี เผยลูกศิษย์"ครูวิภา"จ่ายหนี้เพิ่มหลังสังคมกดดัน

31 กรกฎาคม 2561

กยศ.เล็งขยายระยะเวลาการใช้หนี้ให้มากกว่า 15 ปี เพื่อแก้ปัญหาการผ่อนชำระของผู้กู้ เผยลูกศิษย์ครูวิภาจ่ายหนี้เพิ่มแล่ว หลังถูกสังคมกดดัน

กยศ.เล็งขยายระยะเวลาการใช้หนี้ให้มากกว่า 15 ปี เพื่อแก้ปัญหาการผ่อนชำระของผู้กู้ เผยลูกศิษย์ครูวิภาจ่ายหนี้เพิ่มแล่ว หลังถูกสังคมกดดัน

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ปัจจุบันหลังจากนักเรียนผู้กู้เงินจบการศึกษาและมีงานทำแล้ว จะต้องเริ่มชำระหนี้ให้กองทุน โดยให้เวลาการชำระหนี้สูงสุด 15 ปีขึ้นอยู่กับขนาดวงเงินกู้ เพื่อให้การผ่อนชำระต่อปีอยู่ในระดับที่ต่ำ เช่น หากกู้ที่ 1 แสนบาท ในปีแรกของการผ่อนชำระจะผ่อนชำระเพียง 1,500บาท/ปี ,ปีที่สอง ผ่อนชำระ 2,500 บาท/ปี และปีที่สามผ่อนชำระ 3,000 บาท/ปี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้กู้บางรายที่แม้จะมีงานทำแล้ว แต่รายได้อาจต่ำ และมีรายจ่ายสูง เพื่อแก้ไขปัญหาการผ่อนชำระของผู้กู้ จึงจะขยายอายุการชำระหนี้ให้ยาวนานกว่า 15 ปี แต่อายุตัวของผู้กู้จะต้องไม่เกิน 60 ปี โดยรายละเอียดดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของบอร์ด กยศ

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า จากกรณื น.ส.วิภา บานเย็น หรือ ครูวิภา ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กำแพงเพชร ที่ค้ำประกันเงินกู้กยศ.ให้ลูกศิษย์กว่า 20 คน แต่ลูกศิษย์กลับไม่ชำระหรี้ ทำให้น.ส.วิภาถูกยึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้ ได้ก่อให้เกิดกระแสสังคมกดดันกลุ่มลูกศิษย์ให้มาชำระหนี้นั้น

ล่าสุดมีลูกศิษย์ของน.ส.วิภา ได้มาชำระหนี้ปิดบัญชีเพิ่มเติม อีก 5 ราย จากที่ได้ปิดบัญชีไปแล้ว 4 ราย และอีก 3 ราย เข้ากระบวนการผ่อนชำระกับ กยศ และยังเหลืออีก 9 ราย ที่ยังตามตัวไม่พบ

อย่างไรก็ตามจากการเก็บข้อมูลนักเรียนที่กู้จากกยศ. 2.5 ล้านรายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า 85 % ของผู้ค้ำประกันเงินกู้ เป็นพ่อหรือแม่ , เป็น14 % และเป็นการค้ำประกันโดยครูเพียง 0.1% หรือ มีครูประมาณ 4,000 คนที่ค้ำประกันเงินกู้ให้นักเรียน

ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา กยศ.ได้เริ่มใช้มาตรการตามกฎหมายใหม่ที่ให้สามารถหักเงินกู้จากบัญชีเงินเดือนของผู้กู้ โดยให้หักเป็นรายเดือน ซึ่งเฉลี่ยแล้วหักเพียงเดือนละร้อยกว่าบาทเท่านั้น โดยระบบการหักเงินเดือนจะเริ่มจากกระทรวงการคลัง และในปีหน้าจะเริ่มหักเงินเดือนในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ก่อนที่จะขยายไปจนครอบคลุมผู้กู้ทุกคน

ทั้งนี้นับตั้งแต่ก่อตั้งกองทุน มาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กยศ.ได้ให้เงินกู้แก่นักเรียนไปแล้ว 5 ล้านราย คิดเป็นเงินที่ให้กู้ยืมไปแล้วราว 5 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ ได้ปิดบัญชีหรือชำระหนี้หมดแล้ว 1 ล้านราย ,อยู่ระหว่างการปลอดหนี้ (ยังศึกษาอยู่หรือศึกษาจบแล้วยังไม่มีงานทำ) 1 ล้านราย และอยู่ในระหว่างการชำระหนี้ 3 ล้านราย ,ใน 3 ล้านรายที่ต้องชำระหนี้เงินกู้นั้น มี 2 ล้านรายที่ผิดนัดชำระหนี้ ตั้งแต่ 1 งวดขึ้นไป (หรือผิดนัด 1 ปี) จำนวน 2 ล้านราย คิดเป็นวงเงินกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว 2 แสนล้านบาท (เฉลี่ยกู้รายละประมาณ 1 แสนบาท)