posttoday

เร่งเก็บภาษีแวต‘อี-บิซิเนส’ โกยเงิน 3,000 ล้าน/ปี

27 กรกฎาคม 2561

รัฐบาลประกาศเร่งเก็บภาษีประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) คาดว่าจะเก็บภาษีได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท/ปี สามารถจะนำเงินมาช่วยพัฒนาประเทศได้อีกมาก

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง 

รัฐบาลประกาศเร่งเก็บภาษีประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ก่อนสายฐานภาษีหายหมด โดยคาดว่าจะเก็บภาษีได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งสามารถจะนำเงินมาช่วยพัฒนาประเทศได้อีกมาก

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ที่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ที่มีรายได้จากการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยเกินกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีแวตกับกรมสรรพากร ซึ่งคาดว่าจะทำให้การเก็บภาษีเพิ่มขึ้นปีละ 3,000 ล้านบาท เป็นการทำตามข้อเสนอขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี)

เอกนิติ กล่าวว่า เทคโนโลยีทันสมัยการค้าขายสินค้าและให้บริการ ไม่ต้องมาตั้งมาในประเทศไทย สามารถค้าขายบนออนไลน์บนแพลตฟอร์มในต่างประเทศ เป็นบริษัทอยู่ต่างประเทศจดทะเบียน เช่น ขายหนังออนไลน์ ดาวโหลดเพลง สติ๊กเกอร์ ให้บริการโฆษณา ซึ่งผู้ให้บริการไม่มีภาระต้องเสียภาษีแวต ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจลักษณะเดียวกันที่ต้องเสียภาษีแวต

“หากไม่เก็บภาษีแวตจากผู้ประกอบการต่างๆ อีกหน่อยผู้ประกอบการไทยก็จะหนีไปจดทะเบียนในต่างประเทศ และมาขายสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์มในไทย เพื่อไม่ต้องเสียภาษีแวต ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้มากขึ้น ฐานภาษีในอนาคตจะหายไปหมด” เอกนิติ กล่าว

เอกนิติ ระบุว่า การเก็บภาษีแวตกับผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ มีการดำเนินการในต่างประเทศแล้วถึง 50 ประเทศ ตามข้อเสนอของโออีซีดี มีผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 80-100 ราย

“การเก็บภาษีแวตดังกล่าว เป็นการเก็บภาษีเน้นผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ที่ไม่ใช่ตัวซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีการนำส่งสินค้าเข้ามาในประเทศ ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีระบบการเก็บภาษีนำเข้าและภาษีแวตอยู่แล้ว”

สำหรับการเสียภาษีแวตของผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ สามารถจดทะเบียนและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มกับทางกรมสรรพากรทางออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องเทคโนโลยีของธุรกิจและโลกที่เปลี่ยนไปด้วย เพราะการเก็บภาษีของกรมสรรพากรนอกจากเน้นเรื่องให้เกิดความเป็นธรรมแล้ว ยังเน้นเรื่องการอำนายความสะดวกของผู้เสียภาษีได้ง่ายรวดเร็วและต้นทุนต่ำด้วย

ขณะที่ร่างกฎหมายเก็บภาษีแวตกับผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว หลังจากนี้ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังจากนั้นกฎหมายถึงจะมีผลบังคับใช้

สำหรับการให้ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ มาจดทะเบียนและเสียภาษีแวตไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งเป็นปัญหากับทุกประเทศในโลกที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้

แต่อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาดูจะพบว่าผู้ประกอบการดังกล่าว 70-80% เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง ซึ่งยอมเข้าสู่ระบบการเสียภาษีแวต เพราะเห็นว่าไม่คุ้มกับความเสี่ยงทำผิดกฎหมายเสียค่าปรับภาษีและเสียชื่อเสียงของบริษัท

“ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกมีธรรมาภิบาล พร้อมที่จะทำตามกฎหมายการเก็บภาษีแวตที่จะออกมา เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายไม่มีสภาพบังคับให้ทำเรื่องดังกล่าวได้” เอกนิติ กล่าว

สำหรับผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ส่วนน้อยที่ไม่ยอมเข้ามาเสียภาษีแวต ซึ่งต่อไปจะต้องมีความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษี เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษี ทำให้แต่ละประเทศเสียหาย

นอกจากนี้ ในกฎหมายที่จะออกมายังกำหนดว่า ผู้ประกอบการฝั่งไทยที่ไปใช้บริการกับผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ที่ไม่เสียภาษีแวตให้กับกรมสรรพากร จะนำมาหักเป็นภาษีซื้อหักเป็นรายจ่ายเสียภาษีไม่ได้ ก็จะทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ไปใช้ผู้บริการกับผู้ประกอบการต่างประเทศที่เสียภาษีแวตกับกรมสรรพากรถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมสรรพากรได้เตรียมพร้อมระบบไอทีเพื่อรองรับการเก็บภาษีแวตดังกล่าว เพื่อให้เกิดความสะดวกสามารถดำเนินการได้ทันที คาดว่าจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นปีละ 3,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากสามารถนำไปพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้เพิ่ม

สำหรับการเก็บภาษีเงินได้ ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด เพราะมีความซับซ้อนมากกว่าเสียภาษีแวต เมื่อพิจารณาได้ข้อสรุปก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป