posttoday

ค่าเงินปั่นป่วนถึงปีหน้า

04 กรกฎาคม 2561

ธปท.ยันไม่เห็นสัญญาณโจมตีค่าบาท แม้มีหลายปัจจัยเสี่ยงทั้งกีดกันการค้า เฟดขึ้นดอกเบี้ย แนะอย่าวางใจให้บริหารความเสี่ยง

ธปท.ยันไม่เห็นสัญญาณโจมตีค่าบาท แม้มีหลายปัจจัยเสี่ยงทั้งกีดกันการค้า เฟดขึ้นดอกเบี้ย แนะอย่าวางใจให้บริหารความเสี่ยง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงค่าเงินได้รับผล กระทบจากหลายปัจจัย เพราะมีความกังวลเรื่องกีดกันทางการค้า ส่งผลต่อค่าเงินในภูมิภาคและค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง ประเด็นนี้ได้สร้างความกังวลต่อตลาดเงินและตลาดทุน

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐยังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงปีหน้า ส่วนธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจส่งสัญญาณหยุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านการเข้าซื้อพันธบัตร และตราสารหนี้ (คิวอี) และปีหน้าถ้าหยุดคิวอีดอกเบี้ยอาจจะอยู่ในขาขึ้นได้ ด้านการเลือกตั้งในสหรัฐในปีหน้าอาจจะมีผลต่อการกีดกันทางการค้าที่ยังไม่มีเห็นที่ท่าว่าจะมีข้อยุติ ทำให้สภาวะเรื่องค่าเงินยังคงผันผวนยังคงจะลากยาวไปจนถึงปีหน้า

อย่างไรก็ดี ในส่วนของค่าเงินบาทยังไม่น่ากังวล ไม่เห็นสัญญาณเรื่องการโจมตีค่าเงินบาท เพราะค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับดอลลาร์ ขณะที่หลายสกุลเงินผันผวนอ่อนค่ามากกว่าเงินบาท

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลดี ได้แก่ หนี้ต่างประเทศที่ต่ำ โดยช่วงที่ผ่านมามีการก่อหนี้ในต่างประเทศไม่สูง ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงไม่อ่อนไหวกับเงินไหลออก มีเงินสำรองมากกว่าหนี้ระยะสั้น 3.5 เท่า ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังมีความสามารถในการหารายได้ต่างประเทศ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในปี 2560 เกินดุล 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์ และปี 2561 คาดว่าจะเกินดุล 4 หมื่นล้านดอลลาร์

"ยังมีความผันผวนสูง และแม้ว่าจะมีกันชนที่ดี แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ มาตรการป้องกันการเก็งกำไรก็ต้องพร้อมใช้ เช่น การลดการออกพันธบัตร ในช่วงที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง คาดว่าความผันผวนนี้จะมีต่อเนื่องไปอีกระยะ" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่ม ฟื้นตัว ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดได้ปรับอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) จาก 4.1% เป็น 4.4% เนื่องจากการส่งออกขยายตัวดี ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุนขยายตัวดี ด้านสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัว โดยเฉพาะในหมวดการลงทุนในประเทศ แม้ว่าหนี้เสียภาคการเกษตร ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะมีการยกเลิกนโยบายพยุงราคา และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ก็ยังไม่กระทบเศรษฐกิจภาพรวม ส่วนหนี้เสียในภาพรวมยังคงทรงตัวอยู่ที่ 2.9%