posttoday

ปัดฝุ่นเก็บภาษีขยะพิษ

28 มิถุนายน 2561

ปลัดคลังเร่งให้ความรู้ทำความเข้าใจผู้บริโภค ก่อนรีดภาษีสิ่งแวดล้อมป้องกันมลพิษ

ปลัดคลังเร่งให้ความรู้ทำความเข้าใจผู้บริโภค ก่อนรีดภาษีสิ่งแวดล้อมป้องกันมลพิษ

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาขยะพิษในประเทศไทย ต้องมีการควบคุมตั้งแต่กระบวนการผลิต ใครจะนำเข้ามาหรือผลิตในประเทศ จะต้องมีต้นทุนในการทำลายสินค้าที่จะกลายเป็นขยะพิษในอนาคตด้วย ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหายั่งยืน

ที่ผ่านมากระทรวงการคลังเคยเสนอรัฐบาลให้เก็บภาษีสรรพสามิตกับสินค้าที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทั้งทางดิน น้ำ อากาศ และทางเสียง แต่จะเก็บภาษีในปัจจุบันต้องพิจารณาต้นทุนที่เกิดกับผู้บริโภคมากน้อยขนาดไหน ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ก่อนที่จะมีการเก็บภาษีดังกล่าว

"ประเทศไทยยังต้องทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ว่าการซื้อสินค้าที่มีขวดพลาสติกหรือถุงพลาสติกจะต้องมีต้นทุนบวกเพิ่มเข้าไปด้วย เพราะหากประชาชนไม่เข้าใจก็จะเกิดการต่อต้านว่าทำไมต้องมาเก็บภาษีเพิ่ม" นายประสงค์ กล่าว

นายประสงค์ กล่าวว่า มาตรการภาษีสิ่งแวดล้อมมีหลายวิธี เช่น สินค้าบางอย่างที่นำเข้ามาต้องมีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมเพิ่มเข้าไปด้วย เช่น การนำเข้าโทรศัพท์มือถือต้องถูกเก็บภาษี สิ่งแวดล้อมเพิ่มเพื่อใช้ดำเนินการกำจัดขยะพิษที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ การไปซื้อสินค้า เช่น สินค้า ที่บรรจุในขวดพลาสติกก็จะมีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อมีการนำไปคืนหรือไปขายให้กับรัฐบาลหรือเอกชนก็จะได้เงินกลับคืนมา ซึ่งในประเทศสวีเดนใช้มาตรการนี้ได้ผลมาก เพราะนอกจากมีตู้ซื้อขวดพลาสติก ยังมีการนำขยะไปผลิตไฟฟ้าจนขยะในประเทศไม่เพียงพอต้องซื้อขยะต่างประเทศเพิ่ม

นายประสงค์ กล่าวว่า ขยะพิษอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่ห้ามนำเข้ามานานแล้ว แต่มีการลักลอบนำเข้ามาโดยการสำแดงเป็นเท็จ ซึ่งตอนนี้ทางกรมศุลกากรจะเปิดดูทุกตู้ที่แจ้งสำแดงนำเข้า เป็นเศษพลาสติก เศษอิเล็กทรอนิกส์ หรือเศษโลหะทุกตู้สินค้า เพื่อป้องกันการสำแดงเท็จนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในแต่ละวันมีตู้สินค้าเข้ามา 6 หมื่นตู้ กรมศุลกากรจะต้องดำเนินการไม่ให้เกิดความล่าช้ากับการนำเข้าสินค้าอื่น