posttoday

รับมือ...คนไทย ‘ยิ่งแก่ ยิ่งจน’

26 มิถุนายน 2561

ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงวัย และปัญหาคนไทยยิ่งแก่ยิ่งจน ไม่มีเงินออมมากพอในวัยเกษียณ

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงวัย และปัญหาคนไทยยิ่งแก่ยิ่งจน ไม่มีเงินออมมากพอในวัยเกษียณ ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งภาคสังคมและเศรษฐกิจ รวมไปถึงภาระงบประมาณของภาครัฐ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งออกมาตรการมาเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

สุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ร่วมมือกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษามาตรการเพิ่มเติมเพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลสังคมผู้สูงอายุให้มากขึ้น โดยคาดว่าในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะเสนอให้รัฐบาล

โดยโจทย์หลัก คือ เพื่อเตรียมความพร้อมสังคมสูงวัย อันจะนำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โครงการวิจัยการเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงวัย จะเป็นการศึกษา วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลสังคมผู้สูงอายุระหว่างหน่วยงานทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

อาทิ การศึกษาปัญหาเชิงโครงสร้างด้านแรงงานที่เกิดจากสังคมผู้สูงอายุต่อการย้ายถิ่นฐานแรงงานและผลิตภาพแรงงานของไทย การวิเคราะห์ศักยภาพการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของไทยกรณีของสังคมผู้สูงอายุ และภาระทางการคลังของสังคมผู้สูงอายุ เพื่อการเสนอแนะนโยบายและมาตรการทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบจากสังคมผู้สูงอายุที่มีต่อศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการรองรับผู้สูงอายุ ด้วยการเปิดโอกาสหักลดหย่อนภาษีการมีบุตรคนที่ 2 จำนวน 3 หมื่นบาท/คน และให้นายจ้างภาคเอกชนนำค่าใช้จ่ายการจ้างงานผู้สูงอายุสามารถนำมาหักลดหย่อน 1.5 เท่า เมื่อจ้างผู้สูงอายุทำงาน ฯลฯ

ขณะเดียวกันสำนักงานข้าราชการพลเรือน หรือ กพ. อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องขยายระยะเวลาการเกษียณของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ จาก 60 ปีออกไป โดยรัฐบาลสั่งศึกษาเรื่องนี้ มีระยะเวลา 6 ปี เพื่อทำรูปแบบที่เหมาะสม เพราะจะต้องพิจารณาถึงเรื่องเงินเดือน ตำแหน่งที่เหมาะสมหลังจากนั้น เช่น กรณีเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร เช่น เป็นอธิบดี เมื่อหลังเกษียณแล้วจะให้เป็นรองอธิบดี หรือเป็นที่ปรึกษา จะเหมาะสมหรือไม่ และควรจะได้รับเงินเดือนเท่าไร เพราะต้องดูเรื่องสิทธิค่ารักษาพยาบาลที่อาจเพิ่มขึ้นควบคู่ไปด้วย

สิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อไม่ให้เกิดภาระทางสังคมในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 11 ล้านคน หรือ 17% ของประชากร ภายในปี 2568 คาดว่าจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 20% หรือจำนวน 13.8 ล้านคน และในปี 2578 คาดว่าจะมีจำนวน 20.09 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 30.2% ของประชากร

ขณะเดียวกันพบว่าผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยกว่า 1 แสนบาท/ปี มีจำนวน 2.36 ล้านคน ผู้สูงอายุที่มีรายได้ 3 หมื่นบาท/คน/ปี มีจำนวน 1.7 ล้านคน และพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ 3.5 ล้านคน มีรายได้หลังเกษียณต่ำกว่าเส้นความอยากจน ย่อมกระทบต่อศักยภาพการผลิต การย้ายแรงงาน และภาระทางการคลังของประเทศ

วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ว่าแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ในช่วงปี 2578 ญี่ปุ่นคาดว่าจะมีผู้สูงอายุ 39.9% ของประชากร เกาหลีใต้ 35.5%  สิงคโปร์ 34.1% ไทย 30.2% จีน 28.5%

สำหรับประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับประเด็นท้าทายในอนาคตจากสังคมสูงวัย ทั้งค่าครองชีพ การรักษาพยาบาล ภาระทางสังคม คนวัยทำงาน จะลดหดหายไปจากปี 2565 สัดส่วน 4.9%  ลดเหลือ 3.9% ในปี 2570

“คนเสียภาษีและคนทำงานที่จะมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงสังคมลดลงดังนั้นจะต้องดึงศักยภาพของผู้สูงอายุ ร่วมทำงานกับสังคมให้ได้นานที่สุด เพื่อให้พึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด”

ไทยกำลังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ “ยิ่งแก่ ยิ่งจน” สัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินและการออมในปี 2559 ผู้สูงอายุไม่มีเงินออมสัดส่วน 16.3% ออมเงินหรือมีทรัพย์สินต่ำกว่า 1 แสนบาท สัดส่วน 19.3% เงินออมต่ำกว่า 1-4 แสนบาท นับว่าเงินออมรองรับการใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาลจะมีปัญหาทางสังคมอย่างมาก