posttoday

คนไทยสุขภาพการเงินแย่

23 มิถุนายน 2561

"คนไทยส่วนใหญ่มีเงินออมไม่พอใช้ สาเหตุจากชีวิตเน้นไลฟ์สไตล์ รวดเร็ว ติดโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น แถมมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจำพวกสุรา บุหรี่ในสัดส่วนสูง และยังออมผิดที่ผิดทาง ป้องกันความเสี่ยงระดับต่ำ"

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

"คนไทยส่วนใหญ่มีเงินออมไม่พอใช้ สาเหตุจากชีวิตเน้นไลฟ์สไตล์ รวดเร็ว ติดโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น แถมมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจำพวกสุรา บุหรี่ในสัดส่วนสูง และยังออมผิดที่ผิดทาง ป้องกันความเสี่ยงระดับต่ำ"

บทสรุปข้างต้นมาจากผลการศึกษาวิจัยพฤติกรรมทางการเงิน ที่จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิเคราะห์วิจัยพฤติกรรมเชิงลึกของลูกค้า ธนาคารทหารไทย (Customer Insights by TMB Analytics) ที่มี 2 ทีม คือ ทีม TMB Analytics และทีม Customer Experience & Insights มาทำงานร่วมกัน

เพียงเรื่องแรกก็กระแทกใจคนไทย เพราะไม่คิดว่า ไลฟ์สไตล์ส่วนตัวจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อการออมและทำให้ไลฟ์สไตล์หลังเกษียณอายุไม่สวยหรูอย่างช่วงที่ยังมีกำลังทำงานหาเงิน แต่ต้องยอมรับความจริงเมื่อผลศึกษาออกมาว่า "คนไทยมีเงินเหลือใช้ไม่ถึง 6 เดือนเมื่อหยุดทำงาน"

นันทพร ตั้งเจริญศิริ หัวหน้าทีมศึกษาวิจัยประสบการณ์และข้อมูลลูกค้า (Customer Experience & Insights) ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูลจำนวนผู้ประกอบอาชีพ 35 ล้านคน พบว่า กลุ่มมีเงินออมไม่พอใช้จ่ายไปอีก 6 เดือน มีสัดส่วนถึง 80% ขณะที่กลุ่มที่มีเงินออมพอใช้จ่ายตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป มีสัดส่วนเพียง 20% เท่านั้น โดยอ้างอิงจากตัวเลข 6 เดือน จากการจ่ายเงินชดเชยของประกันสังคมกรณีว่างงาน

ขัดแย้งกับผลสำรวจความคิดเห็น คนไทยอายุ 18-54 ปี กลับมีถึง 40% ที่ค่อนข้างมั่นใจว่า มีเงินออมพอใช้หลังเกษียณ เพราะมีการออมเงินไว้บ้างแล้วถึงแม้จะยังไม่มากก็ตาม สะท้อนว่า คนไทยคิดบวกและมองโลกในแง่ดี

ปัญหาการออมเงินไม่ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ จังหวัด หรือประสบการณ์ทำงาน เพราะคนมีรายได้สูงเกินกว่าเดือนละ 3 หมื่นบาท มีสัดส่วน 70% ที่มีเงินออมไม่พอ 6 เดือน ส่วนคนไม่ว่าจะอยู่กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด สัดส่วนคนออมไม่พอก็ใกล้เคียงกัน 80% หรือจะแยกเป็น เจนเอ็กซ์ เจนวาย ก็มีปัญหาเดียวกัน

ที่แตกต่างและมีผลบ้างเห็นจะเป็นเรื่อง "อาชีพ" ที่พบว่า คนที่มีเงินออมไม่พอส่วนใหญ่เป็นพนักงานเอกชน 89% และจ้างงานอิสระ 78% ขณะที่ พนักงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ ที่ออมไม่พอมีสัดส่วน 65% และเจ้าของกิจการ 62% จากอัตราดังกล่าวเห็นได้ว่ากลุ่มหลังมีความสามารถออมเงินได้มากกว่า

เมื่อดูวินัยการออม มีเพียง 38% ที่ออมก่อนใช้และแยกบัญชีชัดเจน ในขณะที่ 49% ใช้ก่อนออม และอีก 13% ยังไม่คิดออม อีกทั้งยังมองการวางแผนการใช้จ่ายหลังเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว โดย 21% ยังไม่เคยคิดถึงการวางแผนเลย

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสูงถึง 1 ใน 4 ของรายได้ต่อเดือน หรือ 26% คิดเป็นเงิน 7,425 บาท ซึ่งหมดไปกับ 1.รับประทานอาหารนอกบ้าน 6,021 บาท สุรา 530 บาท บุหรี่ 235 บาทและหวย 433 บาท โดยเป็นจำนวนเงินพอๆ กับค่าใช้จ่ายจำเป็นอย่างการประกันความเสี่ยงและการศึกษา

ยิ่งทัศนคติเรื่อง "การเล่นหวยหรือสลากกินแบ่งรัฐบาล" ค่อนข้างเปลี่ยนยาก เพราะคนที่ซื้อหวยใน 100 คน 54% เชื่อว่า ถ้าถูกหวยขึ้นมาแล้วคุ้มค่า ขณะที่ 56% คิดว่ามีสิทธิรวยจากการถูกลอตเตอรี่แน่ๆ

นอกจากนี้ "ไลฟ์สไตล์" ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทย เน้นความสะดวกสบายและรวดเร็ว ติดหรู เช่น ทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น เน้นสถานที่บรรยากาศดี ชิลๆ ชิกๆ เมื่อไปถึงก็ต้องถ่ายรูป แชต แชร์ ตามพฤติกรรมการเสพโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น

ผลลัพธ์ที่ออกมา คือ เผลอใช้จ่ายเกินกำลัง จะเห็นได้จากในปัจจุบัน มากกว่า 50% ของคนที่มีบัตรเครดิตไม่สามารถจ่ายบิลรายเดือนได้เต็มจำนวน และอีกประมาณ 48% เคยผ่อนสินค้าแบบยอมเสียดอกเบี้ย

ทางด้านพฤติกรรมการออม โดยเฉลี่ยคนไทยมีการใช้จ่าย 76% ของรายได้ต่อเดือน ที่เหลือเป็นการออม 21% และป้องกันความเสี่ยง 3% และถ้าเป็นกลุ่มที่มีเงินออมไม่พอ จะมีการใช้จ่ายสูงถึง 82% ขณะที่การออมลดลงเหลือ 14%

ทว่าคนที่ออมพอหรือออมไม่พอ ก็ออมผิดที่ เพราะผลการวิเคราะห์พบว่า การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของทั้งกลุ่มคนที่มีเงินออมไม่พอกับกลุ่มคนที่มีเงินออมพอ จะกระจุกอยู่ที่เงินฝากธนาคารกว่า 80% และเกินครึ่งเป็นเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่มีเงินฝากสัดส่วน 50% และยังป้องกันความเสี่ยงทั้งจากอุบัติเหตุและโรคร้ายแรงต่ำ

ยังทันอยู่ถ้าจะเริ่มออมตั้งแต่ตอนนี้ โดยเริ่มง่ายๆ จาก "ออมก่อน ใช้ทีหลัง" และเลือกออมให้ถูกที่ เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ย 0.5% ให้เป็นทางเลือกสุดท้าย ถ้าจะออมควรมองหาผลิตภัณฑ์ที่ผลตอบแทนสูงชนะเงินเฟ้อจะดีกว่า