posttoday

บาทอ่อนรอบ7เดือน ธปท.แนะรับมือความผันผวน ย้ำค่าเงินเคลื่อนไหวตามภูมิภาค

22 มิถุนายน 2561

บาทอ่อนทุบสถิติใหม่รอบ 7 เดือน แตะระดับ 32.97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ชี้ต่างชาติยังเทขายพันธบัตร 2.7 หมื่นล้าน และหุ้น 1.6 หมื่นล้าน

บาทอ่อนทุบสถิติใหม่รอบ 7 เดือน แตะระดับ 32.97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ชี้ต่างชาติยังเทขายพันธบัตร 2.7 หมื่นล้าน และหุ้น 1.6 หมื่นล้าน

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาด การเงิน ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าสุดแตะระดับ 32.97 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือน นับจากวันที่ 15 พ.ย. 2560 ที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากเงินทุนต่างชาติยังไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ วันที่ 15-20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ต่างชาติขายหุ้นไทย 1.6 หมื่นล้านบาท และขายพันธบัตร 2.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ค่าเงินยูโรยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวก็ยิ่งเป็นแรงกดดันเงินในสกุลภูมิภาคอ่อนค่าลง

สำหรับธนาคารกลางในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซียเตรียมแก้ปัญหาค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 1 เดือน ส่วนฟิลิปปินส์ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อวานนี้เป็นรอบที่ 2 ของปี ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% และยังไม่ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นแม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่คาดว่าแนวโน้มในช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า หาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้แนะนำว่าผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะค่าเงินมีความผันผวนมาก

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาคตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.ถึงปัจจุบันพบว่า ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าสุด 1.62% วอน-เกาหลีใต้ 1.3% รูเปียห์อินโดนีเซีย 1.2% ดอลลาร์-ไต้หวัน 1% หยวน-จีน 1% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.8% ริงกิต-มาเลเซีย 0.7%

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เสถียรภาพทางการเงินของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่ง และพึ่งพาเงินตรา ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับ ประเทศเกิดใหม่ จึงสามารถรองรับความผันผวนได้

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังติดตามสถาน การณ์เงินทุนไหลออก และสถานการณ์ค่าเงินในปัจจุบันอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการและ นักลงทุนจะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนต่อเนื่อง และต้องคำนึงว่า ธนาคารกลางไม่สามารถฝืนกลไกตลาดได้ แต่ทำได้เพียงการช่วยไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหว เร็วจนกระทบกับผู้ประกอบการเท่านั้น และยังยืนยันว่า ค่าเงินบาทของไทยยังเคลื่อน ไหวในทิศทางเดียวกันกับสกุลอื่นในภูมิภาค