posttoday

บาทอ่อนทุบสถิติรอบ5เดือน

16 มิถุนายน 2561

เงินบาทอ่อนค่าลงเกือบ 1% รับผลประชุมอีซีบีเตรียมยกเลิก คิวอีสิ้นปี และคงดอกเบี้ยถึงกลางปีหน้า

เงินบาทอ่อนค่าลงเกือบ 1% รับผลประชุมอีซีบีเตรียมยกเลิก คิวอีสิ้นปี และคงดอกเบี้ยถึงกลางปีหน้า

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวานนี้ (15 มิ.ย.) อ่อนค่าลงมาก หลังจากที่ประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ฉายภาพว่าจะยุติคิวอีสิ้นปีนี้ แต่กว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต้องรอ กลางปีหน้า ล่าช้ากว่าที่ตลาดคาด ส่งผลให้เงินยูโรอ่อนลงไป 1.7% ภายใน 24 ชั่วโมง เงินยูโรมีน้ำหนัก 60% ในเงินดอลลาร์ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และเงินบาทอ่อนค่าลงไปถึง 32.43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ประเทศในภูมิภาคที่มีสกุลเงินอ่อนค่ามากเป็นอันดับ 1 คือ เกาหลีวอน อ่อนค่าลง 1.24% รองลงมา คือ ดอลลาร์สิงคโปร์ อ่อนค่า 1% และเงินบาท อ่อนค่าลง 0.9% เป็นอันดับ 3

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าวเป็นภาวะตื่นตระหนกจากการรับรู้เหตุการณ์ จึงคาดว่า เงินบาทจะอ่อนค่าระยะสั้น เพราะไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน โดยพิจารณาจากพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.577% ขึ้น 0.014% น้อยมาก ไม่สอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยน จึงยังไม่ปรับเป้าหมาย 32.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับค่าเงินอ่อนค่าสุดของปี ขอรอดูสิ้นไตรมาส 2 ที่การปรับพอร์ตเสร็จสิ้น และการขายตราสารหนี้ระยะสั้น ล่าสุดมีการขายไปกว่า 5,000 ล้านบาท จาก 1.3 แสนล้านบาท ที่ต่างชาติถือครอง

นอกจากนี้ การซื้อขายเงินตราจากผู้นำเข้าส่งออกจริงมีน้อย แรงซื้อจากผู้นำเข้าไม่ค่อยมีแรงขายจากผู้ส่งออกก็น้อยมากเพราะยังหวังว่าการที่ดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าสหรัฐ 1% เป็นทิศทางเงินบาทอ่อนลงกว่านี้ จึงชะลอการปิดความเสี่ยงที่เสียทันที 0.20 บาท ช่วงนี้ผู้ส่งออกจะเลือกใช้ออปชั่นมากกว่า

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันที่ 15 มิ.ย. เปิดตลาดอ่อนค่าแรงกว่า 0.6% จากปิดตลาดสิ้นวันก่อน โดยเป็นการอ่อนค่าในทิศทางเดียวกับภูมิภาค จากปัจจัยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และผลการประชุมอีซีบี ทำให้เงินยูโรอ่อนค่าชัดเจน ทำให้ค่าเงินสกุลอื่นอ่อนค่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่าช่วงไตรมาส 3 มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปมากสุดที่ 33.20 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากปัจจัยราคาน้ำมันจะกลับมาเป็นแรงกดดันทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยลดลง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้งในเดือน ก.ย. จะทำให้มีเงินทุนไหลออกในตลาดพันธบัตร คาดว่าสิ้นปีค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าต้องติดตามการประชุมนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าจะมีการส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยนโยบายไทยอย่างไร หลังจากที่เงินเฟ้อแตะระดับ 1.5% และการที่ค่าบาทอ่อนค่าลง รวมทั้งติดตามการประชุมธนาคารกลางอังกฤษที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย 0.5% และการประชุมธนาคารกลางฟิลิปปินส์ที่คาดจะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นจาก 3.25% เป็น 3.5%