posttoday

'ทหารไทย'บุกดิจิทัลแบงก์

09 มิถุนายน 2561

"เบญจรงค์" ตั้งเป้าดันมีบายทีเอ็มบี ให้เป็นดิจิทัลแบงก์แห่งแรก เหลือแค่เปิดบัญชีที่ยังต้องไปสาขา เปิดตัว มิ.ย.

"เบญจรงค์" ตั้งเป้าดันมีบายทีเอ็มบี ให้เป็นดิจิทัลแบงก์แห่งแรก เหลือแค่เปิดบัญชีที่ยังต้องไปสาขา เปิดตัว มิ.ย.

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้บริหารสูงสุด มี บาย ทีเอ็มบี ภายใต้ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ปี 2561 มี บาย ทีเอ็มบี จะมีบริการใหม่ในรูปแบบดิจิทัลแบงก์เพิ่มเติมให้ครบถ้วนมากขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประกัน การลงทุน และบริการทำธุรกรรม โดยเริ่มทยอยเปิดตัวภายในเดือน มิ.ย.นี้ จากก่อนหน้านี้บริการของมี บาย ทีเอ็มบี ที่ลูกค้าคุ้นเคย เป็นเงินฝากดอกเบี้ยสูงเป็นส่วนใหญ่ โดยผลิตภัณฑ์ประกันของมี บาย ทีเอ็มบี ยังคงพัฒนาร่วมกับพันธมิตร เอฟดับบลิวดี ให้ลูกค้าสามารถเลือกแบบที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ขณะที่การลงทุนจะเป็นลักษณะแพลตฟอร์มใหม่ที่แตกต่างตอบโจทย์ลูกค้าได้มากกว่า

ขณะเดียวกัน กำลังทดสอบเทคโนโลยีการเปิดบัญชีโดยลูกค้าไม่ต้องไปที่สาขา เพราะทุกวันนี้การเปิดบัญชีของมี บาย ทีเอ็มบี ยังต้องไปที่สาขา ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การยืนยันตัวตน (เควายซี) ก่อนที่จะทำรายการผ่านดิจิทัลได้ ยังไม่สามารถเพียวดิจิทัลได้ จึงร่วมกับหลายธนาคารทดลองเทคโนโลยียืนยันตัวตน เช่น การใช้ไบโอเมตริก ยืนยันตัวตนผ่านการจดจำ (เรคอกนิชั่น) โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยผลักดันให้เกิดร่วมไปกับนโยบายการพัฒนาการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (เนชั่นแนล ดิจิทัล ไอดี)

ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของมี บาย ทีเอ็มบี ต้องการเป็นดิจิทัลแบงก์เต็มรูปแบบอย่างแท้จริง (เพียวดิจิทัลแบงก์)  ในทุกกระบวนการ ไม่ใช่เพียงการพัฒนาช่องทางทำธุรกรรมแบบดิจิทัลบน โมบายแอพพลิเคชั่นที่ทุกธนาคารรวมทั้งธนาคารทหารไทยกำลังทำอยู่ แต่ดิจิทัลแบงก์อย่างแท้จริงต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ทุกขั้นตอน โดยขณะนี้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม รัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนกฎเกณฑ์มากขึ้น และเทคโนโลยีพัฒนาจนถึงระดับที่เหมาะสมในการผลักดันให้มี บาย ทีเอ็มบี ก้าวเข้าสู่การเป็นเพียวดิจิทัลแบงก์ได้

"มี บาย ทีเอ็มบี เป็นความตั้งใจที่จะสร้างดิจิทัลแบงก์ แต่เดิมยังมีเพียงโปรดักส์เงินฝาก มีเสียงตอบรับดีในระดับหนึ่ง เพราะผู้บริโภคในขณะนั้นยังไม่พร้อมที่จะใช้ดิจิทัลแบงก์ กฎเกณฑ์ก็ไม่ได้สนับสนุนมาก แตกต่างโดยสิ้นเชิงในปัจจุบันที่รัฐและเอกชนสนใจดิจิทัลมากขึ้น ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะทำให้มี บาย ทีเอ็มบี เป็นดิจิทัลแบงก์" นายเบญจรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ จะพัฒนาแพลตฟอร์มของมี บาย ทีเอ็มบี ให้เชื่อมโยงระหว่างลูกค้ากับลูกค้าโดยตรงเพื่อให้ชีวิตลูกค้าง่ายขึ้น หลายธนาคารไปมองเรื่องการเชื่อมโยงลูกค้า-ธนาคารให้ง่าย แต่ในความจริงคนที่ลูกค้าอยากทำธุรกรรมด้วยไม่ใช่ธนาคารแต่เป็นคู่ค้าหรืออีกบุคคลหนึ่ง เช่น แอร์บีเอ็นบี หรือ อูเบอร์ เป็นต้น